พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงภายหลังนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายผ่อนผัน และลดดอกเบี้ยไปหลายอย่าง ซึ่งรายได้ที่จะได้กลับมา แน่นอนว่าก็จะต้องน้อยลง เพราะมีสถานการณ์โควิด-19 ความขัดแย้งในภูมิภาคอื่น และสงครามการค้า แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อจะทำให้ GDP ประเทศสูงขึ้น เพราะถ้าหาเงินเข้ามาไม่ได้ก็จะจ่ายไม่ได้ ดังนั้นต้องใช้จ่ายแบบพุ่งเป้า โดยดูผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญในวันนี้คือต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่รอด ซึ่งแน่นอนว่ามีความลำบาก รัฐบาลไม่ได้สบายใจหรือมีความสุข และทำงานอย่างเต็มที่ ผลงานหลายอย่างก็ปรากฏอยู่ การที่พูดว่าไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย ถือว่าไม่เป็นธรรมและประชาชนจะไม่เข้าใจ
ส่วนเรื่องการจัดเก็บรายได้ที่นำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่เก็บภาษีถึง 30% เทียบกับประเทศไทยเก็บได้เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถเพิ่มอัตราภาษีได้เพราะยังไม่แข็งแรงพอ
ส่วนผู้ที่อภิปรายว่ารัฐบาลหารายได้ไม่เป็นนั้น นายกฯ กล่าวว่า ขอให้มองย้อนกลับไปว่า รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ยกตัวอย่าง คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงในโอกาสต่างๆ คือเรื่องความเท่าเทียม พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หลายอย่างต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ดังนั้น ขอความร่วมมือว่าหากสิ่งใดที่เป็นกฎหมายสำคัญ ขอให้ผ่านไปด้วยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประเทศ
"อย่าไปเปรียบเทียบประเทศที่มีรายได้สูงมากนักเราต้องพยายามไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ แต่ความแตกต่างในบริบทของประเทศไทยนั้น มีความต่างกันอย่างไร ขอให้ดูตรงนี้ด้วย หน่วยงานชี้แจงก็ไม่ฟัง และดูแต่โซเชียลฯ" พลเอกประยุทธ์ กล่าวส่วนข้อเสนอที่จะให้ลดบุคลากรของหน่วยงานของรัฐลงนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนเองได้ให้นโยบายไปแล้วว่าทุกกระทรวงต้องลดจำนวนข้าราชการลงในแต่ละปี ซึ่งก็ต้องดูความพร้อมและดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และลดการบรรจุข้าราชการใหม่ พร้อมย้ำว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายในการดูแลบุคลากรภาครัฐ ที่มีสัดส่วนสูงขึ้น พบว่าเป็นไปเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน เช่น เงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนรายจ่ายประจำ เป็นไปเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
นายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงถึง การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งโครงการอินเตอร์เน็ต โครงการสายเคเบิลใต้น้ำ โครงการ 5G บัตรโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพร้อมเพย์ การชำระเงินผ่านอิเล็คทรอนิกส์ แอพพลิเคชั่นถุงเงิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐอย่างเร็วที่สุด ซึ่งในส่วนของดิจิทัลจะทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศได้พอสมควร สามารถเชื่อมโยงการค้าการลงทุน ในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงการใช้งบกลาง ที่บอกว่านายกรัฐมนตรีเก็บไว้ใช้เองหรือรับประโยชน์ ซึ่งการพูดแบบนี้ ถือว่าไม่มีหลักการ เพราะทุกอย่างในการใช้งบประมาณต้องมีหลักการและกฎระเบียบอยู่ทุกข้อ ขอให้ตรวจสอบ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยัน งบกลางใช้ดำเนินการหลายอย่างด้วยกัน ทั้งเรื่องของโควิดและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรม ก็เข้าไปดูแลให้เปิดได้และให้มีแรงงานเพียงพอ ซึ่งหลายประเทศก็ชื่นชมในการดูแลเรื่องของโควิด แต่คนในประเทศกลับไม่พอใจ
"ท่านไม่พูดถึงเลย พูดถึงแต่ว่าอันนี้ก็ไม่มี อันนั้นก็ไม่ทำ เวลาพูดก็ไม่ฟังและหาทางโจมตีให้มากที่สุด ผมจำเป็นต้องชี้แจง ไม่เช่นนั้นประชาชนก็ตามไปหมด ให้ประชาชนเลือกและเข้าใจว่าจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลได้อย่างไร เมื่อท่านเป็นรัฐบาลก็ต้องทำแบบผม ทำอย่างไรประชาชนจะร่วมมือ ผมไม่โทษใคร แต่หลายอย่างต้องร่วมมือ เข้าใจคำว่าร่วมมือหรือไม่ อะไรที่ไม่ดี อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็จะรับไปพิจารณา สิ่งที่เสนอมาก็ต้องผ่านข้างล่างขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะส่วนท้องถิ่น ส่วนจังหวัด กระทรวงทบวงกรม สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปตั้งโครงการเอง ทำไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวส่วนตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่กังวล และเห็นใจประชาชนและได้พยายาม ทุ่มงบประมาณไปอย่างทั่วถึง พร้อมย้ำนโยบายของเราคืออยู่รอดปลอดภัย พอเพียง ลดหนี้สิน ลดปัญหาสุขภาพ และต้องเกิดความยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เข้าใจว่าการอภิปรายของสมาชิกทุกคนมีความมุ่งหวังให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าและเติบโต แต่ตอนนี้ก็แปลกใจว่านี่คือการพิจารณางบประมาณปี 2566 หรือพิจารณางบประมาณของพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งยังไม่ได้เป็นรัฐบาลในเวลานี้ ขออย่าใช้โอกาสนี้ในการหาเสียงถือว่าผิดเวที