กกต.ยันประกาศผลเลือกตั้งยึดความถูกต้อง ไม่ห่วงกระแสสังคมกดดัน

ข่าวการเมือง Monday June 6, 2022 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตั้งแต่การเริ่มสมัคร การหาเสียง จนถึงการประกาสผล ซึ่งการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ มีรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ทำให้การเลือกตั้งเป็นที่สนใจ และจนถึงวันนี้ก็ถือว่าการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สำหรับการทำหน้าที่ของ กกต.เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อทำตามความต้องการของผู้ใด สิ่งที่เราทำทุกอย่าง ต้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย เราทราบความรู้สึกหรือกระแสของสังคมทุกการเลือกตั้ง แต่ความรู้สึกหรือกระแสที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เราต้องละเลยความถูกต้องตามกฎหมาย เพราะความถูกต้องไม่ว่าเมื่อวาน วันนี้ หรือ อนาคต ก็ยังจะเป็นความถูกต้อง ไม่ว่าผู้แพ้หรือผู้ชนะก็ต้องการความถูกต้อง เราทำงานโดยไม่ได้หวั่นไหว หรือน้อยใจกับการทำงานแต่อย่างใด แต่ก็อยากให้ทราบว่า กกต.ทำงานทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่มีผู้สมัคร ส.ก.ยังไม่ได้รับการรับรองอีก 5 รายนั้น เนื่องจากมีคำร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานฯ ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว

"เหมือนกับการประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. 45 เขต เป็นครั้งแรก ที่สำนักงานฯ เร่งรัดเรื่องการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ซึ่งเป็นการพัฒนาการทำงานของสำนักงานตามนโยบายของ กกต.ที่อยากให้เรื่องการประกาศผล การเร่งรัดสำนวน ทำให้เร็วขึ้น โดยเราก็สามารถประกาศผลได้ภายใน 8-9 วัน ไม่ได้เกี่ยวกับการถูกกระแสกดดันจากสังคม" นายแสวง กล่าว

ส่วนกรณีการจัดทำป้ายหาเสียงที่สามารถนำไปทำเป็นกระเป๋าได้จะสามารถใช้ในการเลือกตั้งในอนาคตได้หรือไม่ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ไมใช่เรื่องใหม่ เรื่องแบบนี้เคยมีแนวมาแล้ว ถ้าจำได้สมัยก่อนมีซีดี ถามว่าเป็นการให้ทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งในข้อเท็จจริงสิ่งเหล่านี้เป็นสื่อที่จะใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผู้สมัครกับประชาชน เหมือนเสื้อสกรีนตัวหนังสือก็ถือว่าเป็นสื่อชนิดหนึ่งในการโฆษณาหาเสียงของผู้สมัคร กรณีป้ายหาเสียงของนายชัชซาติ จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ สังคมอาจจะลืมไปว่า หลักการมันเหมือนกันแต่รูปแบบมันต่างกัน อย่างไรก็ตาม คิดว่ากฎหมายที่มีอยู่ก็ชัดเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการไปแก้ไขกฎหมาย ขอแค่คนใช้กฎหมายตรงไปตรงมา

"ใครให้ความเห็นเราก็ฟัง แต่ กกต.เป็นคนทำงาน จะเห็นหน้างานทุกงาน การแสดงความเห็นบางครั้งไม่ได้ดูกฎหมาย บางความเห็นดูกฎหมายแต่ก็สำคัญผิดไป บางความเห็นไม่รู้ซ้อเท็จจริงไม่รู้หน้างาน ซึ่ง กกต.รับฟังหมด แต่เวลาทำงานต้องยึดหลักกฎหมาย ไม่ได้ทำตามความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ความเห็นต่างๆ ความรู้สึก สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความถูกต้องตามกฎหมายอย่างที่ตนได้พูดว่าวานนี้ถูกต้อง วันนี้ถูกต้อง อนาคตก็ต้องถูกต้อง ทุกอย่างเรามีคำอธิบาย" นายแสวง กล่าว

ส่วนที่มีคนบอกว่าหลังจากการเลือกตั้งเสร็จ กกต.น่าจะประกาศผลได้เลย แต่ในข้อเท็จจริงมีคนอีกครึ่งหนึ่งที่มอง กกต.อยู่ว่า ถ้าไม่ทำตามกฎหมายก็อาจจะถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างกรณีผู้ว่าฯ กทม. มาตรา 17 พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น ระบุว่า จะต้องมีการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่ง 3 วันหลังการเลือกตั้ง กกต.รายงานผลคะแนน จากนั้นผู้ตรวจการเลือกตั้งรายงานผลภายใน 4-5 วัน สำนักงาน กกต.ก็ต้องมาประมวลผลก่อนบรรจุวาระการประชุม กกต. ซึ่งก็คิดว่าเร็วสุดๆ แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ