สนธิรัตน์ สอนมวยรัฐแก้วิกฤติพลังงานเชียร์หักดิบโรงกลั่น-ทบทวนอ้างอิงราคาสิงคโปร์

ข่าวการเมือง Friday June 17, 2022 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สนธิรัตน์ สอนมวยรัฐแก้วิกฤติพลังงานเชียร์หักดิบโรงกลั่น-ทบทวนอ้างอิงราคาสิงคโปร์

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะอดีต รมว.พลังงาน แถลง 4 ข้อเสนอ "ทางออก...วิกฤติราคาน้ำมันแพง" ประกอบด้วย

1. การดูแลค่าการกลั่น ซึ่งจากสถานการณ์น้ำมันมีแนวโน้มจะเกิดวิกฤติในระยะยาว จึงเสนอให้รัฐบาลต้องกล้าหักดิบเพื่อประโยชน์ของประชาชน และการที่รัฐบาลมีมาตรการนำส่งกำไรค่าการกลั่นเป็นสิ่งที่พรรคเรียกร้องมาตลอด แต่มองว่ามาตรการที่ออกมาเป็นเพียงการดำเนินการในระยะสั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ารัฐจะสามารถใช้อำนาจหักกำไรจากทุกโรงกลั่นได้หรือไม่ ซึ่งในขณะนี้มีโรงกลั่นที่เป็นของรัฐอยู่ 4 โรง และเอกชนอีก 2 โรง และอาจเป็นไปได้ที่บางโรงกลั่นอาจไม่ให้ความร่วมมือ

พร้อมมองว่า มาตรการที่ออกมาในระยะเวลา 3 เดือน เป็นมาตรการเฉพาะหน้า และมุ่งที่จะเข้าไปลดการขาดทุนของกองทุนน้ำมันเป็นหลัก แต่อยากให้รัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนว่าการหักกำไรส่งผลต่อราคาน้ำมันนั้น มีเป้าหมายราคาขายปลีกเท่าไร เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องแบกรับมาโดยตลอด

2. ต้องสร้างสมดุลการอ้างอิงราคาสิงค์โปร์ โดยพรรคเสนอให้ทบทวนการอ้างอิงราคาสิงค์โปร์ เพราะมีต้นทุนแฝงเกิดขึ้น ซึ่งโดยปกติโรงกลั่นมีค่าพรีเมียม จึงควรเข้าไปดูแลต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงว่าเป็นเท่าไร และพรรคเคยเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน มี.ค.65 ว่าหากใช้ราคาน้ำมันอ้างอิงสิงค์โปร์ในภาวะวิกฤติ ก็ควรหักค่าขนส่ง ประกัน และค่าสูญเสียระหว่างทาง หรือ FIL

"ค่าการกลั่นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และรัฐควรเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤต แต่ควรกำหนดเป็นมาตรฐานที่ใช้ในภาวะปกติ เพื่อควบคุมราคาพลังงานของประเทศ และทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย"นายสนธิรัตน์ กล่าว

3. สร้างการรับรู้มาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้น โดยเรียกร้องให้รัฐบาลมรณรงค์และกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งพรรคมองว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้น้อยเกินไป ขอเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเข้มข้น

4. ยุทธศาสตร์พลังงานระยะยาว ด้วยการสำรองน้ำมันในภาวะวิกฤติ เก็บราคาน้ำมันราคาถูกไว้ในประเทศ เมื่อเกิดวิกฤต จะช่วยประเทศในช่วงเกิดการผันแปรของโลกได้ดี เอาเงินกองทุนไปเก็บเป็นตัวน้ำมันจริงๆ

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลควรนำภาษีสรรพสามิตที่คืนกลับมาเป็นภาษีคาร์บอน เพื่อนำเงินภาษีนี้มาใช้ส่งเสริมการลงทุนในพลังงานทางเลือก เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของสิ่งแวดล้อมของโลก และในอนาคตพลังงานสะอาดจะเป็นยุทธศาสตร์การค้าใหม่ การส่งเสริมพลังงานทางเลือก จะเป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เป็นผู้นำทางด้านพลังงานทางเลือก และเกิดความสามารถในการแข่งขันที่จะเป็นผู้นำพลังงานทางเลือกในภูมิภาคอาเซียน โดยพรรคยืนยันว่ามีนโยบายส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell)ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเป็นต้นทุนพลังงานที่ต่ำ

ส่วนนายสันติ กีระนันทน์ กรรมการบริหารพรรค กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันมีกำไรที่ไต่ระดับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเทียบตัวเลขย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีกำไรมหาศาล และคาดการณ์จากผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 65 มีแนวโน้มที่จะเห็นกลุ่มโรงกลั่นทั้นปีนี้มีกำไรพุ่งขึ้นกว่า 28%

นอกจากนั้น โรงกลั่นใหญ่ 3 โรง ซึ่งเป็นผู้นำตลาด ล้วนแล้วแต่มี บมจ. ปตท. (PTT) เป็นผู้ถือหุ้นในแต่ละบริษัทไม่น้อยกว่า 45% ของหุ้นทั้งหมด ในขณะที่ ปตท.เอง ก็มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 51.11% และยังมีกองทุนรวมวายุภักษ์ถือหุ้นอีก 12.16% ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโรงกลั่นก็คือรัฐนั่นเอง ซึ่งเชื่อว่ารัฐสามารถมีมาตรการเพื่อให้บริษัทเหล่านั้นเปลี่ยนจากการมุ่งทำกำไรระยะสั้นลง แต่หันไปมองผลกำไรระยะยาว ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนแทนได้

ด้านนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า พรรคเห็นถึงความสำคัญเรื่องอนาคตของประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้น ราคาต้นทุนพลังงานส่งผลต่อทุกภาคส่วน ปัญหาเงินเฟ้อต้องมีการบริหารจัดการด้วยความละเอียดอ่อน เศรษฐกิจยังมีปัญหาอยู่ และไทยยังพึ่งส่งออกมาก พรรคจึงขอตั้งคำถามว่า การบริหารจัดการที่จะดูแลประเทศระยะยาวต้องทำอย่างไร ให้ประเทศมีความเข้มแข็ง และมีขีดความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

นายอุตตม ยังกล่าวถึงผลการจัดอันดับอันดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ จากการประเมินของ IMD พบว่า ไทยมีอันดับลดลงถึง 5 อันดับจาก 28 มาอยู่ที่ 33 จากทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจ และมีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด ทั้งนี้ พรรคสร้างอนาคตไทยเห็นว่าควรต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ การส่งออกต้องมีขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากกว่านี้ และเศรษฐกิจภายในต้องเข้มแข็งตั้งแต่ฐานราก

นอกจากนี้ ปัจจัยชี้วัด เรื่องการคลังภาครัฐ ตกไป 15 อันดับ เป็นปัจจัยกระทบทุกอย่าง เพราะมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้ดูแลประชาชนในยามวิกฤต แต่ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า เงินที่กู้มาดำเนินการเรื่องอะไร และสามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุดหรือไม่ และกระทบกับเสถียรภาพการเงินการคลังระดับไหน เพราะในขณะนี้รัฐบาลกู้เงินเกือบชนเพดาน 60% ซึ่งเป็นตัวเลขเป็นตัวสะท้อนว่า ต่างชาติไม่เชื่อไทย และมีคำถามต่อการบริหารจัดการการคลังในยามที่เกิดวิกฤติ

อย่างไรก็ดี พรรคฯ ขอตั้งคำถามต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ ภาคเอกชนช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เราจะฟื้นเศรษฐกิจนี้ได้อย่างไร ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง และวันนี้รัฐบาลมีแนวทางการทำงานร่วมกับภาคเอกชน และประชาชนอย่างไร ในการแก้เรื่องหนี้สิน ทั้งหนี้ผู้ประกอบ หนี้นอกระบบ ซึ่งหากไม่มีการแก้ปัญหา จะกลายเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ รวมถึงรัฐบาลจะมีมาตรการส่งเสริมเงินทุนให้กับผู้ประกอบรายเล็กอย่างไร

"วันนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่มรสุม เปรียบเสมือนพายุที่รุนแรงมาก ทุกคนหนีไม่พ้น อยู่ที่เรือลำใดที่จะเข้มแข็ง ที่จะฝันฝ่า อยู่ที่กัปตันและทีมลูกเรือ ที่จะนำพาเรือลำนี้ผ่านพ้นตรงนี้ไปให้ได้" นายอุตตม กล่าว

สำหรับปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ นายอุตตม มองว่า แนวโน้มดอกเบี้ยจะเป็นช่วงขาขึ้น ซึ่งจะถูกนำมาจัดการเรื่องเงินเฟ้อ เพราะถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลกระทบกับเงินบาทแน่นอน แต่ที่สำคัญ ต้นทุนในการทำธุรกิจขึ้นอย่างแน่นอน ในสถานการณ์แบบนี้ ต้องดูแลเรื่องเงินเฟ้อและเสถียรภาพราคา และอีกด้านต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอย ซึ่งรัฐบาลต้องหาสมดุลให้ได้

"จะสร้างสมดุลอย่างไร ระหว่างดอกเบี้ยขาขึ้น และการพยุงให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับที่สมควร เป็นโจทย์ที่ต้องคิดกันวันนี้เลย และเราหวังว่า ภาครัฐจะสื่อแนวทางเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า มีการดูแลเรื่องที่ซับซ้อน และละเอียดอ่อนเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ" นายอุตตม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ