ส.ว.สมชาย แนะกมธ.นัดคุยแก้มาตราเกี่ยวเนื่องสูตรหาร 500 ก่อนประชุมร่วมรัฐสภา

ข่าวการเมือง Thursday July 14, 2022 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ... รัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่มีข้อกังวลเรื่องการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 ว่า ทางกมธ. น่าจะจัดประชุมเรื่องนี้ก่อนที่จะถึงวันประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 26-27 ก.ค. ไม่เช่นนั้นจะเกิดความยุ่งที่จะต้องมาพักการประชุม และกมธ. ต้องเรียกประชุมเพื่อแก้ไขร่างกฎหมายเหมือนกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ และร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... ที่ผ่านมาที่เสียงข้างน้อยชนะ ทำให้ต้องพักการประชุมไปหลายสัปดาห์ เพื่อไปแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกัน

นายสมชาย กล่าวว่า ในตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างที่สมบูรณ์คือ ร่างของพรรคพลังประชารัฐ และร่างของพรรคเพื่อไทย ที่เขียนมาตราที่ตกกระทบไว้หลายมาตรา แต่ที่ประชุมรัฐสภาเลือกร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีการแก้ไข 2 มาตรา ซึ่งตอนที่กรรมาธิการฯ พิจารณามีประเด็นเห็นว่ายังมีมาตรา 93 และมาตรา 94 ค้างอยู่ จึงมีผู้เสนอในชั้นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มาเสนอถอนในนาทีสุดท้ายออก

"ดังนั้นแนวทางที่ควรทำ คือแก้ไขมาตรา 93 และมาตรา 94 ให้ลุล่วง แต่กลับมาเสนอร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก่อน ทำให้เกิดปัญหาที่มันเป็นติ่ง แต่มีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. บางคนคิดว่ามันไม่ใช่ติ่ง แต่ทุกอย่างเมื่อมีอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่า ยังมีผลบังคับใช้" นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาต้องสะท้อนปัญหานี้ว่าเมื่อกรรมาธิการเสียงข้างน้อยชนะในการแก้ไขมาตรา 23 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แล้ว มาตราต่อเนื่องจะแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้กฎหมายขัดกันเอง เข้าใจว่า ฝ่ายเสียงข้างน้อยต้องไปยกร่างปรับปรุงมา และที่ประชุมรัฐสภาก็ต้องพักการประชุมเพื่อให้กรรมาธิการฯไปเรียกประชุมในวันนั้นเพื่อปรับปรุงร่าง ส่วนจะเป็นเสียงข้างมากหรือข้างน้อยก็ต้องมาโหวตกันในที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

ส่วนกรณีมีสมาชิกรัฐสภาบางคนอภิปรายทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อแก้เสร็จต้องส่งไปศาลรัฐธรรมนูญอัตโนมัตินั้น นายสมชาย กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะตามขั้นตอนคือเมื่อเกี่ยวข้องกับองค์กรใดก็ส่งให้องค์กรนั้นพิจารณา นั่นคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญ กกต.ก็ต้องแย้งกลับมาที่รัฐสภา เพื่อดำเนินการปรับแก้ ถ้ารัฐสภาไม่ปรับแก้ก็จะเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 องค์กร ตรงนี้ก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ถ้า กกต.ไม่แก้ไข เพราะเห็นว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแล้ว กลุ่มที่เห็นต่างที่เป็นสมาชิกรัฐสภาสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก่อนนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ 5 วัน ขณะเดียวกัน หาก กกต.แก้ไขให้รัฐสภากลับมาใช้หาร 100 กลุ่มที่เห็นด้วยกับการหาร 500 ก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน ท้ายสุดไม่ได้เป็นการไปศาลรัฐธรรมนูญอัตโนมัติ แต่เป็นการใช้ข้อบังคับรัฐสภาในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นายสมชาย ยังเชื่อว่ากฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ จะทันใช้กับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาฯ จะอยู่ครบวาระหรือไม่ แต่หากเกิดอุบัติเหตุภายหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจปลายเดือนนี้ นายกฯประกาศยุบสภา ก็ไม่ทันใช้ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่ตนเชื่อว่า นายกฯจะไม่ยุบสภา เพราะมีภารกิจสำคัญคือการต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค ที่จะมีขึ้นในกลางเดือนพ.ย.นี้

"เชื่อว่า สภาฯ จะอยู่ไปได้จนถึงพ.ย. หรือเลยไปถึงต้นปีหน้า หากรัฐสภาร่วมมือช่วยกันให้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับผ่านการพิจารณา ก็จะใช้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน และขัดกันเองด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ แม้ยุบสภาฯ และไม่มีกฎหมาย 2 ฉบับนี้ ก็ยังมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อปี 2532 และ 2538 เคยเกิดเหตุการณ์ไม่มีพ.ร.บ.เลือกตั้ง ทำให้ต้องใช้พ.ร.ก. อาศัยความตามประเพณีได้ เมื่อจะมีการเลือกตั้งหน่วยที่จัดการเลือกตั้งต้องมีกฎหมายใช้ ดังนั้นฝ่ายบริหารสามารถออกพ.ร.ก.ให้มีการประกาศใช้สำหรับกกต.ในฐานะที่จัดการเลือกตั้งได้มีวิธีปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างที่จะไม่มีกฎหมายใช้" นายสมชาย กล่าว

ส่วนการที่ฝ่ายบริหารออกพ.ร.ก.เอง จะทำให้ถูกมองเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายบริหาร เพื่อชนะการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น นายสมชาย กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา ใครเป็นฝ่ายค้านก็มองแบบนั้น ในที่สุดแล้วเชื่อว่าฝ่ายค้านและรัฐบาลปัจจุบันต้องการให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สำเร็จลุล่วง ส่วนส.ว.ไม่มีส่วนได้เสีย แต่หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นมาก็มีทางออก

ส่วน พ.ร.ก.จะบอกว่าเอื้อหรือไม่เอื้อรัฐบาล ก็สามารถกล่าวหากันได้ แต่รัฐบาลที่ออก พ.ร.ก. เพราะต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายให้ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นประเพณีปฏิบัติเพื่อให้ กกต.ทำงานได้ ทุกอย่างมีระบบดุลกันอยู่แล้ว การกล่าวหาล้วนเป็นวาทกรรมทางการเมือง แต่ทางที่ดีทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้แล้วเสร็จดีกว่า เพราะทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ