เพื่อไทย ชำแหละโครงการท่อส่งน้ำ EEC เอื้อเอกชน ทำรัฐเสียหาย จ่อฟ้องป.ป.ช.

ข่าวการเมือง Wednesday July 20, 2022 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในประเด็นความไม่โปร่งใสในการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (EEC) โดยระบุว่า เมื่อเดือนมิ.ย.64 นายสันติ ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (รับมอบหมายจากรมว.คลัง) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารโครงการท่อส่งน้ำ จาก 3 สัญญา คือ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย, โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และ โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) มารวมไว้เป็นสัญญาเดี่ยว และให้ใช้วิธีคัดเลือกบริษัทเอกชน แทนการเปิดประมูลทั่วไป เพื่อมาบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักใน EEC ตามผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างให้ทำการศึกษา

ซึ่งนอกจากผลการศึกษาของ ม.เกษตรฯ ที่ให้รวมสัญญาบริหารระบบท่อส่งน้ำฯ ทั้ง 3 โครงการไว้เป็นสัญญาเดียวกันแล้ว ยังมีผลการศึกษาที่ระบุว่า โครงการดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เนื่องจากโครงการมีมูลค่าไม่ถึง 5,000 ล้านบาท ไม่ควรเปิดประมูลทั่วไป แต่ให้ใช้วิธีคัดเลือกเอกชนแทน

นายยุทธพงศ์ มองว่า มติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ เป็นประธานนั้น จะทำให้เกิดการทุจริต เอื้อประโยชน์ให้เอกชน เป็นการหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย และประชาชนจะเดือดร้อนจากการที่ต้องจ่ายค่าน้ำแพง

ทั้งนี้ มีความไม่โปร่งใสของการคัดเลือกเอกชน โดยจะเห็นได้ว่าในรอบที่ทำการทดสอบความสนใจของเอกชน (Market Sounding) กรมธนารักษ์มีการปกปิดไม่ให้ข้อมูลโครงการฯ อย่างทั่วถึง โดยไม่เชิญเอกชนรายใหญ่ที่มีศักยภาพเข้ามาให้ความคิดเห็น แต่กลับเชิญเอกชนเพียง 5 รายเข้ามา คือ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ.อมตะ คอร์ปอรเชั่น (AMATA), บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) และการประปาส่วนภูมิภาค

จากนั้น ได้มีการเชิญชวนเพียงเอกชน 3 รายเฉพาะที่กรมธนารักษ์ให้เข้าร่วม Market Sounding มายื่นข้อเสนอ ได้แก่ EASTW AMATA WHA ตลอดจนผู้รับเหมา 2 ราย คือ บริษัท วงษ์สยาม จำกัด (รับจ้างวางท่อ) และบมจ. วิค (WIIK) ทั้งที่บริษัท 2 รายนี้ ไม่ได้เข้าร่วม Market Sounding

ตลอดจนมีการปรับปรุง TOR ในประเด็นสำคัญ เช่น ยกเลิกลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอ ในกรณี "ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญา" ออกไป, ปรับลดทุนจดทะเบียนของบริษัทผู้ยื่นข้อเสนอจาก 500 เหลือ 300 ล้านบาท เปลี่ยนข้อกำหนดทางเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอ จาก "นิติบุคคลผู้มีอาชีพและประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจและ/หรือบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำ" เป็น "นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการจัดการน้ำ" ทั้งนี้ เพื่อเอื้อประโยชนฺ์ให้เอกชนบางรายที่ไม่เคยบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำมาก่อน ให้สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกบริหารโครงการท่อส่งน้ำฯ ได้

โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ย.64 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ให้บริษัท วงษ์สยาม จำกัด ได้รับคะแนนสูงสุด จากที่มีบริษัทเอกชน 3 ราย เข้ายื่นข้อเสนอ คือ EASTW, วิค และวงษ์สยาม

"ท้ายที่สุดกลับได้ บริษัทวงษ์สยาม ซึ่งเป็นเพียงผู้รับเหมาก่อสร้างงานวางท่อน้ำ ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และไม่เคยมีประสบการณ์บริหารระบบท่อส่งน้ำมาก่อน เป็นผู้ชนะการคัดเลือก" นายยุทธพงศ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดสำหรับการร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ ให้สามารถกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการคัดเลือกได้ โดยไม่ต้องมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งกระบวนการคัดเลือกเอกชนที่บิดเบี้ยวและผิดวัตถุประสงค์นี้ จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนในที่สุด คือการต้องจ่ายค่าน้ำแพง และเป็นการลดทอนศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมใน EEC

ดังนั้น จึงไม่สามารถไว้วางใจให้นายสันติ มาบริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะ รมช.คลัง และในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต แสวงหาผลประโยชน์ในหน่วยงานที่กำกับดูแล เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน โดยไม่ดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ และเห็นว่าแม้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง จะได้มอบอำนาจให้นายสันติ เป็นประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุแล้ว แต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีความรับผิดชอบได้เช่นกัน

"ถ้านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (โดยตำแหน่งตามกฎหมาย) ปล่อยให้มีการลงนามในสัญญา ผมจะฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช. และศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนายอาคม และนายสันติ ต่อไป" นายยุทธพงศ์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ