รักษาการนายกฯ ประเดิมงานแรกประชุมบอร์ด กภช. สั่งยกระดับการแจ้งเตือนภัย

ข่าวการเมือง Thursday August 25, 2022 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) ครั้งที่ 1/2565 กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนงาน จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนสู่ระดับที่สูงขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและปฏิบัติงานได้จริง เพื่อลดความเสี่ยง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมหาศาลจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อาทิ น้ำท่วมฉับพลัน ไฟป่า แผ่นดินไหว หรือสึนามิ เป็นต้น

ด้าน พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ "เป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการบริหารการเตือนภัย ด้วยดิจิทัลแบบบูรณาการที่มีมาตรฐานสากล" ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเห็นชอบการดำเนินการแจ้งเตือนภัยโดยใช้ระบบ Cell Broadcast ด้วยการแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสามารถระบุพื้นที่ที่จะทำการแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์สื่อสารจำนวนมากในการส่งเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กิจการกระจายเสียง, กิจการโทรทัศน์, กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้รับทราบแนวทางการถ่ายโอนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มาสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ 15 ก.ย. 59 ทั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยจะปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในภาวะปกติ ภาวะที่มีความเสี่ยง และภาวะที่มีการเกิดภัยพิบัติ พร้อมทั้งได้รับทราบความคืบหน้าระบบการเฝ้าระวังและช่องทางการแจ้งเตือน โดยมีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อให้มีการรับมือและอพยพผ่านอุปกรณ์การเตือนภัยประกอบด้วย หอเตือนภัย จำนวน 338 หอ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม จำนวน 163 แห่งติดตั้ง ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเขตทั้ง 18 เขต 70 จังหวัด และสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัด จำนวน 285 แห่ง รับข้อมูลผ่านสัญญาณดาวเทียมและกระจายการแจ้งเตือนด้วยระบบคลื่นวิทยุไปยังหอเตือนภัยขนาดเล็ก จำนวน 674 แห่ง และส่งถึงหอกระจายข่าวภายในชุมชน และหมู่บ้านต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ