วุฒิสภา ถกงบปี 66 กมธ.ห่วงจัดสรรให้ท้องถิ่นน้อย แนะกระจายอำนาจ-เงินนอกงบฯ สูง

ข่าวการเมือง Tuesday August 30, 2022 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวรัฐสภา เปิดเผยว่า การประชุมวุฒิสภาที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบแล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภาต้องพิจารณาเห็นชอบภายใน 20 วันนับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ.คือวันที่ 24 ส.ค.65

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ฐานะตัวแทนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยยืนยันว่า การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยรับงบประมาณสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ แผนปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้รัฐบาลขอขอบคุณวุฒิสภาที่จะพิจารณาและพร้อมขอรับข้อสังเกตไว้ด้วยความขอบคุณ พร้อมจะนำไปพิจารณาปรับปรุงให้การจัดสรรงบประมาณคุ้มค่า เป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างยั่งยืน

จากนั้นเป็นการชี้แจงรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 66 วุฒิสภา โดย พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ส.ว.ในฐานะประธาน กมธ.ฯ อภิปรายว่า การจัดสรรงบประมาณลงจังหวัดนั้นต่ำกว่ากรอบ ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ เพิ่มกระจายอำนาจในการจัดสรรงบเชิงพื้นที่ตามความต้องการของจังหวัด และหน่วยงานในจังหวัดเพื่อลดความซ้ำซ้อน ความเหลื่อมล้ำการกระจายงบลงสู่พื้นที่ สำหรับประมาณการรายรับที่จะส่งให้ท้องถิ่น รวมถึงรายได้ของท้องถิ่นคาดว่ามียอดต่ำกว่า 10-20% ดังนั้นรัฐบาลควรเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการจัดเก็บรายได้ โดยเฉพาะ อปท.ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีเงินสะสม

สำหรับการควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรส่วนราชการที่พบว่ามียอดเพิ่มขึ้นทุกปี กมธ.จึงมีข้อเสนออัตรากำลังภาครัฐ ด้วยการทบทวนบทบาท กรอบอัตราที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ขณะที่ พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฎ ส.ว.ในฐานะ กมธ.รายงานผลการศึกษาตอนหนึ่งว่า โครงการสำคัญที่หน่วยรับงบประมาณขออนุมัติจาก ครม.หลายโครงการ ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้พบว่าไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ทำให้ไม่สามารถติดตามการใช้จ่ายเงินของภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้นการแก้ไขควรมีหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อขับเคลื่อนโครงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและมติ ครม.

"แผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ คลาดเคลื่อนจากรายงานการเงินของหน่วยรับงบประมาณและมีเงินสะสมคงเหลือ เช่น องค์กรมหาชน องค์กรกำกับของรัฐมีเงินคงค้างจำนวนมาก และพบว่ามียอดสะสมของเงินนอกงบประมาณสูงถึง 2.8 ล้านล้านบาท ดังนั้นสำนักงบประมาณต้องเคร่งครัดนำข้อมูลนอกงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่ถูกต้องประกอบการพิจารณาต่อสภา เพื่อให้รักษากรอบการเงินการคลังของรัฐตามกฎหมาย" พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าว

พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าวว่า สำหรบความคืบหน้าการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะสิ้นสุดการเบิกจ่ายในวันที่ 30 ก.ย.65 พบว่าหลายโครงการต้องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี และจะเร่งรัดเบิกจ่ายให้เสร็จในวันที่ 31 ธ.ค.65


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ