(เพิ่มเติม) ศาลรธน.แจงนัดพิเศษ 8 ก.ย.พิจารณาพยานหลักฐาน-คำชี้แจงปมวาระ 8 ปี ยังไม่ถึงขั้นลงมติ

ข่าวการเมือง Wednesday September 7, 2022 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงกรณีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิเศษในวันพรุ่งนี้ (8 ก.ย.) เพื่อพิจารณาพยานหลักฐาน และคำชี้แจงที่เกี่ยวข้องกับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้น เพียงพอจะนำไปสู่การวินิจฉัยได้หรือไม่ ถ้าเอกสารข้อมูลเพียงพอจะนัดลงมติ แต่หากข้อมูลไม่เพียงพอจะต้องแสวงหาเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งตามที่วิธีที่กฎหมายกำหนดทำได้ เช่น การให้บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐชี้แจงก็ได้ หรือจะดำเนินกระบวนการไต่สวนก็ได้

ส่วนที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ศาลฯ จะมีการลงมติหลังประชุมวันพรุ่งนี้นั้น รวมทั้งหลังจากการพิจารณาในวันพรุ่งนี้แล้วจะนัดอ่านคำวินิจฉัยในอีก 15 วัน และมีการคาดเดาว่าผลของการพิจารณาจะออกมาเป็นกี่เสียงนั้น นายเชาวนะ กล่าวว่า ขั้นตอนขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น โดยยืนยันว่ายังไม่มีเงื่อนไขของการกำหนดวัน และยังไม่ถึงขั้นลงมติ

นายเชาวนะ กล่าวว่า การที่ศาลฯ นัดประชุมในวันพรุ่งนี้ไม่ได้เป็นการเร่งเวลา หรือทำให้ช้าลง ยืนยันว่าเป็นไปตามขั้นตอนปกติ เมื่อถามว่าคดีนี้มีความสำคัญหรือไม่ ก็เป็นคดีที่ศาลฯ ให้ความสำคัญ แต่ก็ดำเนินกระบวนพิจารณาตามปกติไม่ได้มีการลัดขั้นตอนแต่อย่างใด

ส่วนหากคณะตุลาการเห็นว่าข้อเท็จจริงมีความเพียงพอให้วินิจฉัยแล้ว ตามข้อกฎหมายจะต้องมีการนัดวันวินิจฉัยภายในกี่วัน นายเชาวนะ กล่าวว่า ตามกฎหมายในบางคดีบางเรื่องจะกำหนดเฉพาะเจาะจงว่าจะวินิจฉัยภายใน 15 วัน 30 วัน เช่น คดีที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ร่างรัฐธรรมนูญ

แต่คำร้องลักษณะการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ได้กำหนดเวลา แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งการที่ศาลฯ จะกำหนดวันวินิจฉัยตามข้อหมายได้กำหนดไว้เพียงปัจจัยเดียวคือ เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอต่อการพิจารณา และให้ความยุติธรรม ก็จะกำหนดประเด็นวินิจฉัย และจะนัดอ่านความเห็นของตุลาการแต่ละท่าน และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง

ปกติก็มีกรณีที่ศาลลงมติช่วงเช้าและอ่านคำวินิจฉัยช่วงบ่าย และการที่ศาลจะนัดอ่านฯ ถ้าไม่ได้เป็นเรื่องที่มีการไต่สวนก็จะนัดวินิจฉัยหลังพยานหลักฐานครบถ้วนแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่หากอยู่ระหว่างการไต่สวนและเห็นว่าคดีมีข้อมูลเพียงต่อการวินิจฉัยก็จะนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัย แต่คดีนี้ยังไม่ได้มีการไต่สวน ฉะนั้น ก็จะอยู่ในกรอบนัดวินิจฉัยไม่น้อยกว่า 7 วันหลังจากศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ

ส่วนความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งศาลฯ ก็รับฟัง แต่ไม่ได้เอามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ศาลฯจะยึดสำนวนคดีเป็นหลัก เพราะตุลาการทั้ง 9 คนล้วนเป็นอิสระ ไม่มีใครรู้ว่าใครจะวินิจฉัยอย่างไร และขณะนี้ยังไม่ได้เป็นที่ยุติว่าพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ การที่บอกว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างนั้นอย่างนี้ จึงเป็นการด่วนสรุปที่เร็วเกินไป

นายเชาวนะ ยังชี้แจงกรณีที่มีรายงานข่าวว่ามีเอกสารหลุดอ้างว่าเป็นความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญในเรื่องนี้และกังวลใจเป็นอย่างมาก โดยสั่งให้หาข้อเท็จจริงว่าหลุดออกมาได้อย่างไร เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการพิจารณา เนื่องจากเนื้อหากระทบผู้ให้ความเห็นและพาดพิงไปถึงคู่ความ

"ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยในทางปฏิบัติจะพิจารณาว่ามีข้อบกพร่องเช่นไร และเพิ่มความระมัดระวังให้เกิดความรอบคอบและรัดกุม ส่วนจะเอาผิดใครได้หรือไม่จะต้องรอดูผลการตรวจสอบก่อน"นายเชาวนะ กล่าว

นอกจากนี้ ตามที่ขณะนี้มีเอกสารชี้แจงของนายกรัฐมนตรีหลุดในโซเชียลอีก ทางสำนักงานฯ ยังไม่ทราบ แต่จะพยายามอย่างเต็มที่ควบคุม เมื่อมีเหตุก็จะต้องเพิ่มมาตรการ เพราะห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ