(เพิ่มเติม) อดีต ส.ส.ปชป.ร้อง ป.ป.ช.สอบทุจริตงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ข่าวการเมือง Thursday October 20, 2022 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดในหน้าที่ราชการของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากข้าราชการในรัฐสภา โดยเฉพาะคนงานของสภาผู้แทนราษฎรว่า มีการวางสายไฟใต้ดินใต้สนามภายนอกอาคารรัฐสภาไม่เป็นไปตามแบบ และอาจเป็นอันตรายหากมีการขุดดินเพื่อปลูกต้นไม้และหญ้า

และหลังจากได้รับการร้องเรียนจึงหาข้อมูล เบื้องต้นพบว่ามีการวางสายไฟใต้ดินจริง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,700 เมตร แต่หลายแห่งขุดวางสายไฟไม่ลึกเป็นไปตามแบบ อีกทั้งพบว่ามีการตรวจรับงานงวดและจ่ายเงินแล้ว

ขณะเดียวกัน นายวิลาศ ได้ยื่นหนังสืออีก 1 ฉบับ เพื่อขอให้พิจารณาการกระทำของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีเมื่อวันที่ 1 ก.ค.65 บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ผู้รับจ้าง ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ว่าจ้าง) ว่า ขอแจ้งส่งมอบงานงวดสุดท้ายแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามสัญญาก่อสร้าง อย่างไรก็ตามขณะนี้มีงานที่ทำไม่ตรงแบบ บางเรื่องคณะกรรมการตรวจการจ้าง (คตจ.) ยังไม่อนุมัติ บางเรื่อง คตจ.อนุมัติแล้วแต่ยังไม่มีการแก้ไขสัญญา เห็นว่าเมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานแล้ว ผู้ว่าจ้างต้องตรวจรับงานเท่านั้น และในระหว่างตรวจรับงาน ถ้าพบข้อบกพร่องของงาน อาจเนื่องมาจากวัสดุหรือเนื้องาน ผู้ว่าจ้างต้องสั่งให้ผู้รับจ้างแก้ไข อีกทั้งระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขต้องดำเนินการตามสัญญาคือปรับวันละ 12.28 ล้านบาท เพราะถือว่าเมื่อมีการส่งมอบงานแล้วถือว่าสัญญาสิ้นสุด แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ จึงขอให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กล่าวถึงการออกมาชี้แจงของนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ STEC เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า การที่นายภาคภูมิแถลงว่า บริษัทฯ ได้ทำงานตามแบบและตามสัญญานั้น เป็นเพียงข้ออ้างของบริษัทเพราะความจริงคือบริษัทไม่ทำตามสัญญาและข้อกำหนด เช่น สัญญาจ้างช่วงบริษัทผิดสัญญาชัดเจน รวมถึงการก่อสร้างผิดแบบ ฝนตกมีน้ำรั่วตามเพดานชั้นต่างๆ เป็นต้น

บริษัทเซ็นสัญญาก่อสร้าง 900 วัน วงเงิน 12,280 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเกือบหมดแล้ว ได้ขยายเวลาก่อสร้างถึงสิ้นปี 63 ขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้สร้างให้เสร็จภายในปี 62 ได้ขยายเวลาก่อสร้าง 4 ครั้ง รวม 1,864 วัน และวันนี้เป็นวันก่อสร้างสภาวันที่ 3,422 วัน ต้องคิดค่าปรับจำนวน 658 วัน การก่อสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จ

"การที่ผู้แทนบริษัทมาแถลงไม่ตรงต่อความเป็นจริงเช่นนี้มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ถ้าผมเป็นผู้ถือหุ้นจะเสนอปลดกรรมการผู้จัดใหญ่ เพราะไม่มีประสิทธิภาพ...และที่กล่าวหาว่าฝ่ายการเมืองข่มขู่กรรมการตรวจการจ้างฯนั้น จริงๆแล้วฝ่ายการเมืองชี้นำกรรมการตรวจการจ้างมากกว่า" นายวัชระ กล่าว

ส่วนข้ออ้างว่าหากมีกระบวนการกลั่นแกล้งนั้น นายวัชระ ยืนยันว่าไม่มีการกลั่นแกล้งใดๆ ทั้งสิ้น ประชาชนธรรมดาๆ จะไปกลั่นแกล้งบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมากล้นได้อย่างไร แต่ตนและนายวิลาศได้ทำหน้าที่พลเมืองดีปกป้องเงินภาษีของประชาชนและประเทศชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ