ผู้นำไทย-ฝรั่งเศส หารือทวิภาคี พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือครอบคลุมทุกมิติ

ข่าวการเมือง Thursday November 17, 2022 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้นำไทย-ฝรั่งเศส หารือทวิภาคี พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือครอบคลุมทุกมิติ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือทวิภาคีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ นายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในฐานะแขกพิเศษของเจ้าภาพ (Guest of the Chair) ว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกครั้ง พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าการเยือนครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นและเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และในโอกาสการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ไทยขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในฐานะสมาชิก G7 และ G20 ในการขับเคลื่อนวาระสำคัญของไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้หารือร่วมกันในช่วงการประชุมฯ ด้วย

ผู้นำไทย-ฝรั่งเศส หารือทวิภาคี พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือครอบคลุมทุกมิติ

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมทั้งชื่นชมความร่วมมือระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีความคืบหน้าในหลาย ๆ ด้าน แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะความร่วมมือด้านอวกาศ ในการพัฒนาดาวเทียมธีออส 2 โอกาสนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสชื่นชมนายกรัฐมนตรีและประเทศไทยในโอกาสการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 โดยประเด็นความร่วมมือของ APEC ในแง่การค้าและการลงทุน การรักษาสันติภาพ และสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่สอดคล้องกับสิ่งที่ฝรั่งเศสต้องการผลักดัน ยืนยันสนับสนุนประเด็นที่ไทยต้องการผลักดัน

นายอนุชา กล่าวว่า ผู้นำทั้งสองฝ่าย ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้

  • การจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการไทย - ฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าวให้มีความคืบหน้า ซึ่งจะช่วยให้การเดินหน้าความสัมพันธ์เป็นไปด้วยความสะดวก โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมเร่งรัดการดำเนินการคาดว่าภายในเดือนมกราคม 2566 จะมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
  • ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงไทย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 dialogue ไทย - ฝรั่งเศส เพื่อหารือในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่า ไทยกับฝรั่งเศสมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อใจและความใกล้ชิดระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย การสร้างฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทย การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยทางทะเล เป็นต้น
  • ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และเห็นพ้องกันว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก โดยรัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว

นอกจากนี้ ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

  • ด้านการศึกษาและวิชาการ ไทยกับฝรั่งเศสมีความร่วมมือในด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันได้ ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

สำหรับการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ของไทย นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสสำหรับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งการจัดงาน Expo 2028 - Phuket Thailand ในเดือนมิถุนายน 2566 ระหว่างช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่ (BIE General Assembly) ครั้งที่ 172 ที่กรุงปารีส โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมให้การสนับสนุนไทยในประเด็นนี้

ส่วนความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไทยพร้อมสนับสนุนฝรั่งเศสในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ ทั้งในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) อาเซียน - ฝรั่งเศส และอาเซียน - EU รวมถึงการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก และมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย - EU ด้วยเช่นกัน ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนนโยบายระหว่างไทยกับ EU และพร้อมผลักดันการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย - EU อย่างแข็งขัน

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีมอบเอกสารแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเข้าร่วมข้อริเริ่ม PREventing Zoonotic Disease Emergence (PREZODE) เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาและป้องกันโดยโรคติดต่อระหว่างสัตว์กับคน (zoonotic disease)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ