"รสนา"เตือนไม่เหมาะทั้งหลักการ-ช่วงเวลาแก้รธน.อาจนำประเทศเข้าสู่วิกฤติ

ข่าวการเมือง Tuesday April 8, 2008 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ส.ว.กทม.ติงแนวคิดรัฐบาลที่เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เหมาะสมทั้งหลักการและช่วงเวลา สังคมยังคลางแคลงใจว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวม วอนอย่าอ้างเสียงข้างมากหรือลากประชาชนมาสร้างความชอบธรรมในการแก้รัฐธรรมนูญ ระวังประเทศชาติหวนกลับสู่วังวนปัญหาเดิม
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)มองว่า การที่รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขบางมาตราหรือแก้ไขทั้งฉบับ ก็ถือว่าไม่มีความเหมาะสมทั้งแง่ของหลักการและช่วงเวลาเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพิ่งเริ่มใช้ได้ไม่นานจึงยังไม่สามารถประมวลได้อย่างชัดเจนว่ามีข้อบกพร่องหรืออุปสรรคในจุดใด
อีกทั้งผู้ที่เดินหน้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อสังคมได้ว่าเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของพวกพ้องตัวเอง หรือแก้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
"เมื่อเรามีประสบการณ์การใช้แล้ว การแก้จึงเป็นประโยชน์ ถ้ามาแก้ตั้งแต่ตอนนี้ สังคมก็ต้องตั้งคำถามว่ามันเพื่อประโยชน์ใคร รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าแก้ต้องแก้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคนใดคนหนึ่ง"น.ส.รสนา กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
น.ส.รสนา กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ที่รัฐบาลพุ่งเป้าไปที่มาตรา 237 เพื่อหวังจะให้มีการลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเฉพาะตัวบุคคล ป้องกันไม่ให้โยงไปถึงการยุบพรรคนั้น ส่อให้เห็นเจตนาว่าพรรคการเมืองยังต้องการรักษาระบบการซื้อเสียงไว้
เนื่องจากในเจตนารมย์ของมาตรา 237 บัญญัติขึ้นเพื่อให้อำนาจตุลาการเข้ามาแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง หลังจากที่ผ่านมาอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างแท้จริง หากรัฐบาลยืนยันว่าจะแก้ไขมาตรานี้ก็จะเป็นการสกัดกั้นกระบวนการทางตุลาการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาซื้อเสียง
"เจตนาคือการแก้ปัญหาซื้อเสียง จากที่ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐบาล และนิติบัญญัติแก้ไขได้ ก็ต้องอาศัยอำนาจตุลาการเข้ามาตัดสิน...ถ้ารีบตัด(มาตรา 237) มัน imply ว่าคุณต้องการรักษาระบบการซื้อเสียงไว้"น.ส.รสนา ระบุ
ส.ว.กทม.ระบุว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรให้ผ่านการใช้งานไปก่อนอย่างน้อย 3 ปีเพื่อให้เห็นข้อดี-ข้อเสีย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคอย่างชัดเจนก่อน โดยก่อนหน้านี้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เคยบอกไว้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญก่อน 3 เดือนที่รัฐบาลจะครบวาระ(4 ปี) ซึ่งหากเป็นช่วงเวลาดังกล่าวก็ถือว่าเหมาะสม
"นายกฯ เคยบอกจะแก้รัฐธรรมนูญก่อนรัฐบาลครบวาระ 3 เดือน อันนี้รับได้ แต่บริหารประเทศไม่ถึง 3 เดือน จะแก้แล้ว ประชาชนยังไม่รู้เลยว่ากฎหมายที่มีอยู่จะสกัดกั้นการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองได้หรือไม่ มันต้องลองใช้ดูก่อนให้รู้ว่าอุปสรรคคืออะไร...แก้ตอนนี้มันเร็วไป เดี๋ยวจะเกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ" น.ส.รสนา กล่าว
ส่วนการที่รัฐบาลจะยกความมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้ถือเป็นเสียงของประชาชนส่วนใหญ่เพื่ออ้างความชอบธรรมในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น น.ส.รสนา เห็นว่า หากรัฐบาลระบุเป็นนโยบายหาเสียงไว้ตั้งแต่แรกว่าจะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญในทันที ก็คงชอบธรรมที่จะหยิบยกข้ออ้างดังกล่าวมาใช้ แต่เมื่อมีเปลี่ยนคำพูดเมื่อเข้ามารับตำแหน่งก็อาจสร้างปัญหาได้
"ถ้าบอกตั้งแต่แรกว่าถ้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะมีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญทันที แล้วประชาชนเลือกเขา(พรรคพลังประชาชน)ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ท่านสมัครบอกว่าจะแก้แน่ก่อนหมดวาระ 3 เดือน แต่พอเข้ามาแล้วมาเปลี่ยนคำพูด มันจะเป็นปัญหา...ประชาชนเลือกเข้ามาไม่ได้ให้สัมปทานอำนาจ แต่เลือกผู้แทนมาให้ทำหน้าที่ ที่ต้องสำนึกตลอดเวลาว่าอำนาจยังอยู่ที่ประชาชน"ส.ว.กทม.ระบุ
น.ส.รสนา มองว่า การเดินหน้าเร่งแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ยังทำให้ปัญหาบ้านเมืองย้อนกลับเข้าสู่ปัญหาจุดเดิมในช่วงรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่หลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยการประกาศยุบสภาฯ และในอนาคตจะกลายเป็นบรรทัดฐานได้ว่าหากใครเสียประโยชน์ก็จะดึงเสียงส่วนมากมาใช้เป็นข้ออ้างในการหาความชอบธรรมที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของบ้านเมือง
น.ส.รสนา ได้ฝากถึงรัฐบาลว่า ขอให้นึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เพราะหากคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ของพวกพ้อง ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ
"ไม่มีส่วนไหน ยิ่งใหญ่กว่าส่วนรวม ถ้าเราได้คนที่เข้ามามีอำนาจ ไม่ว่าจะตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม แล้วทำแต่ประโยชน์ส่วนตน โดยไม่เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม บ้านเมืองก็จะประสบชะตากรรม"น.ส.รสนา กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ