กกต.ขอเวลาแบ่งเขตถึงสิ้น ก.พ. ปัดยื้อเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Monday January 30, 2023 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา

วันนี้นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เข้าหารือการจัดการเลือกตั้งกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

นายวิษณุ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการยุบสภา ทาง กกต.ขอเวลาทำงานอย่างน้อย 45 วัน สิ่งที่เป็นปัญหานับจากนี้คือ กกต.ต้องมีการแบ่งเขตการเลือกตั้งจากเดิมที่มี 350 เขต เพิ่มเป็น 400 เขต ที่สำคัญมีบางจังหวัดที่มีประชากรเพิ่มและลดไม่เท่าเดิม ซึ่ง กกต.กลางจะต้องส่งให้ กกต.จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและพรรคการเมืองในแต่ละจังหวัดด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน โดยถือเอาเดือนก.พ.ทั้งเดือน คือ 28 วัน อาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ หลังจากนั้นจะยุบสภาเมื่อไหร่ก็ได้

"จะให้เร็วอย่างที่หลายคนคิด ว่านี่ไงกฎหมายลูกประกาศใช้แล้วยุบสภาได้แล้ว บางคนก็บอกว่ารัฐบาลยื้อเวลา ไม่ยอมยุบ รีบยุบ แต่ถ้ายุบตอนนี้ กกต.บอกเลยว่าจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าใครลงสมัครเขตไหน อย่างไร ก็ต้องใช้เวลา 28 วัน หรือเดือน ก.พ." นายวิษณุ กล่าว

ทั้งนี้ หลังวันที่ 28 ก.พ.จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเมื่อมีการประกาศยุบสภาแล้ว รัฐบาลต้องออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา และ กกต.จะต้องประกาศวันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งการประกาศดังกล่าวจะต้องรู้เขตเลือกตั้งทั้งหมดก่อน

นายวิษณุ กล่าวว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งมีหลายรูปแบบ เช่น แต่ละซอยอาจจะแบ่งกันไปคนละเขตก็ได้หากมีการซิกแซกเป็นการแบ่งเขตตามใจชอบมีการได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งมีคนกลัวการแบ่งเขตตามใจชอบแบบสะเปะสะปะ จึงต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน และจำเป็นต้องบอกให้ประชาชนได้รับรู้ให้ทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาล

ทั้งนี้หากมีการยุบสภา ไทม์ไลน์ของการเลือกตั้งจะไม่กระทบวันหยุดช่วงเดือนพฤษภาคมที่เคยประกาศไว้ แต่มีโอกาสที่จะใช้ช่วงนั้นจัดการเลือกตั้งใหญ่ เพราะหากยุบสภาจะต้องเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน และวันเลือกตั้งจะต้องเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และยืนยัน ว่ารัฐบาลและ กกต.ไม่มีการยื้อเวลา เป็นไปตามขั้นตอนทั้งหมด เพราะ กกต.เป็นองค์กรอิสระเป็นคนกำหนดการเลือกตั้ง

ขณะที่นายแสวง กล่าวว่า ไม่ได้มารายงานเรื่องไทม์ไลน์การเลือกตั้ง แต่มาหารือเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของ กกต. และพรรคการเมือง

ส่วนที่ กกต.ขอเวลาในการทำงานอย่างน้อย 45 วันก่อนจะมีการยุบสภานั้น หากไม่ได้จริงๆ ก็คงต้องมาปรับ เพียงแต่ขณะนี้ ยังไม่ทราบว่าสภาฯ จะอยู่ครบวาระ หรือจะยุบสภาก่อน ซึ่งหากไม่สามารถได้เวลา 45 วันตามที่กำหนดไว้ อาจจะทำให้ กกต.ทำงานยากขึ้น เพราะความยากไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง แต่ความยากอยู่ที่การเตรียมการก่อนเลือกตั้ง ซึ่งจะเตรียมการเลือกตั้งได้นั้น ก็จำเป็นต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน

สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง จะสามารถประกาศได้เมื่อใดนั้น นายแสวง กล่าวว่า ทาง กกต.จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะอยากให้เสร็จเร็ว เพื่อนำข้อมูลจากเขตต่างๆ ไปใช้ในการทำงานด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องจัดเตรียมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งทั่วประเทศต้องใช้คนจำนวนมาก

"เราพยายามทำให้ครบตามกฎหมาย ไม่ให้มีเงื่อนไขให้ใครมาท้วง และให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งตัวกฎหมายและประชาชนในพื้นที่ และรับประกันว่า จะทำกฎหมายให้เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้แข่งขันทุกคน" นายแสวง กล่าว

ส่วนกรณีที่หากมีการยุบสภาหลังวันที่ 15 มี.ค.66 กกต.พร้อมที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า อยากให้มีการเตรียมความพร้อม ซึ่งส่วนหน่วยงานจะต้องไปพิจารณา แม้อาจจะมีข้อจำกัดทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ กกต.ก็อยากเตรียมการไม่ให้มีเงื่อนไข

ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่า การที่ กกต.ขอเวลา 45 วัน เป็นการช่วยยื้อเวลาให้กับพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น นายแสวง กล่าวว่า ก็แล้วแต่จะคิดกันไป แต่ในความจริงแล้ว ต้องมองอย่างมีเหตุผล หากไม่ให้เวลาสำหรับการเตรียมแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วจะเลือกตั้งกันได้อย่างไร

"คนก็คิดไปได้ทั้งนั้น กกต.ทำงานเพื่อประเทศไทย คนยืนอยู่จุดไหน ก็จะพูดในมุมของตัวเอง แต่เรามองทุกอย่างมีเหตุผล หากไม่มีการแบ่งเขต เราจะเลือกตั้งกันอย่างไร ทุกอย่างมีคำอธิบาย แต่คนจะคิดกัน ก็คิดได้" เลขาธิการ กกต.กล่าว

ส่วนกรณีที่หลายพรรคการเมือง มีตัวแทนประจำเขตไม่ครบ จะส่งผลต่อไทม์ไลน์โดยรวมหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ขณะนี้แต่ละพรรค กำลังเร่งจัดตั้งตัวแทนสาขาพรรค เพื่อทำไพรมารีโหวตอยู่แล้ว เหมือนกฎหมายเดิม แต่ที่เบากว่ากฎหมายเดิม คือ ไม่ต้องมีตัวแทนครบทุกเขตเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศให้วันที่ 5 พ.ค.66 เป็นวันหยุดพิเศษ ส่งผลให้มีวันหยุดต่อเนื่อง 4-7 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันที่คาดการณ์จะมีการเลือกตั้งนั้น นายแสวง กล่าวว่า นายวิษณุ ไม่ได้หารือเรื่องนี้กับตน แต่มองว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงไหนก็ตาม ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดกี่วันก็ตาม หากรู้ว่าเป็นวันเลือกตั้ง ก็อยากให้ไปเลือกตั้งกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ