เลือกตั้ง'66: เพื่อไทยค้านกกต.เพิ่มรูปแบบแบ่งเขตกทม. ทำสับสน ห่วงบัตรเสียพุ่ง

ข่าวการเมือง Monday February 13, 2023 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ได้เพิ่มรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กทม. 3 รูปแบบ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง และประชาชน ตั้งแต่วันที่ 10-19 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกทม. พรรคเพื่อไทย แถลงไม่เห็นด้วยกับกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. เพิ่มอีก 3 รูปแบบ จากเดิมมี 5 รูปแบบ ซึ่งมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อยู่แล้ว เพราะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต เรียกได้ว่าเป็นการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับประชาชนเกิดความไม่สะดวก เพราะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างความลำบากต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ทำให้ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ซึ่งเคยทำงานมา อีกทั้งการแบ่งเขตรูปแบบที่ 6-8 ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

นอกจากนี้ การแบ่งเขตดังกล่าว ยังส่งผลให้ผู้สมัครพบปัญหาว่าในเขตเดียวมีผู้สมัครถึง 3-4 คน ต่างพรรค ต่างเบอร์กัน จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปผิดพลาดบกพร่อง เกิดบัตรเสียจำนวนมาก ไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย กกต. ควรยึดตามหลักกฎหมายและความเป็นจริง จึงขอเรียกร้องให้ กกต.ทบทวนใหม่

"การแบ่งเขตแบบที่ 6-8 มีโอกาสสร้างความสับสนให้ประชาชนมากกว่า หากมีการแบ่งพื้นที่ตามแขวง คงเรียก ส.ส.เขต ไม่ได้ ต้องเรียกว่า ส.ส.แขวง และจะสร้างผลเสียคือบัตรเสียจะมากขึ้น จากการฟังเสียงประชาชน พรรคจึงเสนอว่า รูปแบบการแบ่งเขตแบบที่ 1-2 มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะเขตหลักๆ ยังอยู่ ไม่ถูกแบ่งแยก จึงมีความสะดวกต่อประชาชนมากกว่า" นายวิชาญ กล่าว

สำหรับ 5 รูปแบบเดิม เป็นการเอาประชากร กทม.หารด้วยจำนวน ส.ส. แล้ว กกต.กทม.ต้องขีดเส้นแบ่งเขตให้จำนวนคนแต่ละเขตใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย

ส่วนการจัดทำ 3 รูปแบบใหม่นี้ เกิดขึ้นหลังจาก กกต. ส่วนกลาง เห็นว่าการแบ่งเขตในกทม. 5 แบบแรกนั้น ไม่เป็นไปตามเกณฑ์จำนวนประชากรนัก เพราะบางเขตเลือกตั้งมีจำนวนประชากรมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศเกิน 10% จึงใช้ค่ากลางจำนวนประชากร กทม. 166,513 คนต่อเขต แต่ใช้จุดเริ่มต้นใหม่ ภายใต้โจทย์ให้จำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ