เลือกตั้ง'66: ก้าวไกล เปิดตัวทีมศก. ประกาศวาระสู่อนาคต สร้างชาติเข้มแข็ง

ข่าวการเมือง Wednesday March 22, 2023 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลือกตั้ง'66: ก้าวไกล เปิดตัวทีมศก. ประกาศวาระสู่อนาคต สร้างชาติเข้มแข็ง

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดตัวแกนนำหลักทีมเศรษฐกิจ 7 คน ซึ่งมีส่วนผสมที่หลากหลายอย่างลงตัว ทั้งในแง่อาชีพ มีทั้ง ส.ส. นักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจ ในแง่ช่วงวัย มีทั้งคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นเก๋า และในแง่มิตินโยบายเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจภาคเมือง เศรษฐกิจภาคชนบท เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมไฮเทค ประกอบด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล, นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล, นายวรภพ วิริยะโรจน์, นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล, นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร และ นายเดชรัต สุขกำเนิด

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฯ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคต้องเป็นการเติบโตอย่างเป็นธรรม และต้องมีการกระจายอย่างเป็นธรรม โดยเริ่มจากการสร้างรากฐานเศรษฐกิจ การสร้างกฏกติกาและกลไกภาครัฐอย่างเป็นธรรม ทลายทุนผูกขาด และการทำให้เศรษฐกิจไทยพุ่งทะยานไปข้างหน้า

การทำให้ทุกนโยบายเป็นไปได้จริง ต้องเริ่มจากกลไลภาครัฐ ซึ่งหากพรรคเป็นรัฐบาลจะดำเนินการดังนี้

1.จัดสรรงบประมาณฐานศูนย์ เพื่อปรับโครงสร้างงบประมาณใหม่ เพื่อตอบรับภารกิจใหม่ จำเป็นต้องเทงบประมาณทั้งหมด จัดลำดับความสำคัญใหม่ทั้งหมด ที่ผ่านมานโยบายไม่สะท้อนแนวคิดนโยบายภาครัฐ จำเป็นเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งบประมาณให้สอดคล้องทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

2.การกิโยตินกฎระเบียบ เพราะกฎระเบียบยิ่งมาก คนที่ต้องแบกรับภาระคือ SME หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล ต้องมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ ลดกฎระเบียบให้ได้ 50% หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องยาก แต่จากประสบการณ์ในสภาฯ 4 ปี เห็นแล้วว่าสามารถทำได้ ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงแน่วแน่ ซึ่งพรรคพร้อมงัดข้อกับระบบราชการ ปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ในการประกอบธุรกิจให้สะดวกยิ่งขึ้น

3.ปรับโครงสร้างกระทรวง เพื่อให้การยุบ-ควบรวมหน่วยงานรัฐ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

4.การกระจายอำนาจ เนื่องจากท้องถิ่นมีศักยภาพมหาศาลที่จะระเบิดพลังทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก้าวไกลจะเติมงบประมาณ อำนาจและทรัพยากร ไม่ให้ท้องถิ่นถูกแช่แข็ง แต่จะเป็นตัวจุดพลังทางเศรษฐกิจไทยให้กลับมา สร้างงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

5.การต่างประเทศ หากจะดำเนินนโยบายแบบ Made with Thailand ต้องมีสำนักงานผู้แทนการค้า ที่ดูแลทั้งเรื่องการค้าและการลงทุน เพื่อแสวงหาโอกาสของประเทศไทย วางตำแหน่งและยุทธศาสตร์ของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก

"ทั้ง 5 กลไกที่ต้องปรับ เพื่อให้กลไกภาครัฐตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก เราเชื่อว่าทั้งหมดนี้ จะเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้ไม่เหมือนเดิม และเติบโตไปสู่อนาคตได้" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น ประกาศวาระ "เปลี่ยน Made in Thailand เป็น Made with Thailand" คำว่า Made in Thailand ไม่เหมาะยุคปัจจุบัน เพราะการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโลก เกิดขึ้นในซัพพลายเชนที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา เพราะไทยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเกินไป ไม่สนใจการเคลื่อนไหวของซัพพลายเชนโลก ทำให้เราตกขบวนอุตสาหกรรมที่ไฮเทคที่สุด อย่างอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน ซึ่งแทบทุกประเทศมีบทบาทกับอุตสาหกรรมนี้ มีแต่ไทย พม่า ไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้แชร์มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมนี้เลย

"เราต้องคิดใหม่ เอาซัพพลายเชนเป็นตัวตั้ง และคิดว่าสิทธิบัตรไทย หรือแม้แต่ความเป็นไทย จะเข้าไปส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนโลกได้อย่างไร เปลี่ยนเป็น Made with Thailand สนใจการเป็นส่วนผสมมากขึ้น คือ เราต้องตั้งต้นเราจะไปแทนที่อะไร ในซัพพลายโลก และขยายขนาดการผลิต" นายวีระยุทธ กล่าว

ขณะเดียวกัน ไทยต้องไม่คิดใหญ่จนเกินไป ต้องหันมาทำนโยบาย "คิดเล็กคิดน้อย" มากขึ้น หาจุดซัพพลายเชนโลกที่ยังไม่มีผู้ครอบครองตลาดโลก พรรคมาพร้อมยุทธศาสตร์ใหม่ โดยยืนยันว่าให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม ภาคการผลิต เชื่อมต่อภาคเกษตร ด้านดิจิทัล เราต้องเปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนยุทธศาสตร์ เปลี่ยนผู้ทำนโบายใหม่ เราถึงจะเปลี่ยนเศรษฐกิจได้

นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล อดีตผู้พิพากษาศาลสมทบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และอดีตกรรมการบริษัทสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ไทย Moshi Moshi ประกาศวาระ "เปิดโอกาส เปิดตลาด SME" พรรคให้ความสำคัญกับ SME ไทยมี SME 3 ล้านราย วันนี้พรรคขอนำเสนอนโบายให้ SME กลับมาเข้มแข็ง ผ่านนโยบาย 5 ต.

1.เติมทุน มีทุนตั้งตัว 1 แสนบาท มีทุนสร้างตัวขยายธุรกิจ 1 ล้านบาท ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกัน เราตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบ 1 ล้านราย

2.เติมตลาด ห้างค้าปลีก ห้างขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีสินค้าจากเกษตร สินค้าจาก SME จะมีวงเงินให้ประชาชนเข้าไปช่วยสนับสนุนสินค้า SME ซึ่งเชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้ผู้ผลิตสินค้า SME เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

3.จัดตั้งสภา SME จะกำหนดนิยาม SME ให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันบริษัทขนาดใหญ่แตกบริษัทลูกมาแข่งกับ SME ตัวจริง

4.พรรคสนับสนุนใช้กลไกภาษีตัดรายจ่ายให้กับ SME โดยจะมีการปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลในระบบก้าวหน้า ให้ SME เสียภาษีต่ำลง ถ้าพรรคผลักดันนโยบายการขึ้นค่าแรงได้สำเร็จ เราจะให้ SME นำค่าจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นเวลา 2 ปี

5.ให้บริษัทขนาดใหญ่สนับสนุน SME โดยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเงินสนับสนุน SME ไปตัดเป็นรายจ่ายได้เพิ่มขึ้นในแต่ละปี 1.5 เท่า

ทั้งนี้ พรรคมีนโยบายหวยใบเสร็จ คือ หากผู้บริโภคไปอุดหนุนร้านโชว์ห่วย ร้าน SME สามารถแปลงใบเสร็จไปเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ เชื่อว่า เป็นการเติมตลาดครั้งใหญ่ให้ SME ทั่วประเทศ ส่วนผู้ประกอบการสามารถแปลงยอดขายเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลได้มากขึ้น เป็นการจูงใจผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าและบริการดีขึ้น และถ้าผู้ประกอบการอยากไปขอกู้เงินธนาคารสามารถกู้ได้ง่ายขึ้น เพราะหัวใบเสร็จแปลงเป็น statement กู้เงินธนาคารได้

"ภายใต้นโยบายชุดนี้ เราเชื่อว่า จะทำให้ SME เข้มแข็งมากขึ้น เข้าถึงเงินทุนมีแต้มต่อ เข้าถึงตลาด และต้องส่งเสริมสภาพการแข็งขันมากขึ้น บังคับใช้กฏหมายแข็งขันทางการค้าให้ดีขึ้น เพื่อสกัดทุนใหญ่ และมุ่งปฏิรูปปรับลดกฏระเบียบให้น้อยลง เราเชื่อว่า ภายใต้นโยบายรัฐบาลก้าวไกล สามารถเปลี่ยน SME และเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าได้" นายสิทธิพล กล่าว

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประกาศวาระ "ทลายทุนผูกขาดเพื่อลดค่าครองชีพ" สิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้สำหรับเศรษฐกิจไทย คือ การทลายทุนผูกขาด เพราะการทลายทุนสามารถสร้างรายได้ใหม่ๆ ลดภาระค่าใช้จ่าย และคุ้มครองการแข่งขันที่เป็นธรรม

โดยยกตัวอย่าง 3 อุตสาหกรรม 1. อุตสาหกรรมสุรา มูลค่า 5 แสนล้านบาท เป็นโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งปีที่แล้วพรรคแพ้โหวตเรื่องปลดล็อคสุรา 2 คะแนน เพราะมี ส.ส.น้อยเกินไปในการเลือกตั้งที่ผ่านมา การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้ามีส.ส.มากขึ้นหรือเป็นรัฐบาล จะปลดล็อกสุราให้ได้ใน 100 วันแรก ถือเป็นก้าวแรกทลายทุนผูกขาดออกจากเศรษฐกิจไทย

2. การผูกขาดด้านพลังงาน กลุ่มทุนพลังงานใหญ่มีมูลค่ามากสุดในตลาดหลักทรัพย์ เจ้าสัวใหม่ๆ เป็นเจ้าสัวโรงงานไฟฟ้า ความมั่งคั่งกลุ่มทุนพลังงานมาจากบิลค่าใช้ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ายังเป็นระบบผูกขาดที่ทุกโรงไฟฟ้า ต้องผูกขาดการทำสัญญากับการไฟฟ้าเท่านั้น และทุกรัฐบาลพร้อมล็อกสัญญาและประเคนกำไรให้กลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้ อนุมัติให้มีโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยพรรคจะเสนอยุติการผูกขาดสายส่ง เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้าให้เกิดการแข่งขัน ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ให้ประชาชนมีทางเลือกใช้ไฟฟ้าในราคาต่ำสุด เปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าซื้อขายไฟกับผู้ผลิตโดยตรง ยุติการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจพลังงาน เปิดให้ประชาชนติดตั้งโซล่าร์บนหลังคา ซึ่งพร้อมทำได้ทันที 100 วันแรก และสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ทันที 70 สตางค์ภายใน 1 ปี ด้วยการเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติ ด้วยการจัดสรรก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่า การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ซึ่งก๊าซจากอ่าวไทยมีเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนใช้ ลดการใช้แอลเอ็นจีเพื่อผลิตไฟฟ้า และเป็นการลดค่าไฟให้กับประชาชน

"หลักการพรรคชัดเจน นโยบายก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย คือทรัพยากรของคนไทยทั้งประเทศ ต้องเปลี่ยนการจัดสรรเพื่อมาผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ก่อน เป็นเชื้อเพลิงให้กับอุตสาหกรรม และบริษัทปิโตรเคมีต้องเฉลี่ยต้นทุนให้กับประชาชนด้วย ถ้าไทยทลายทุนผูกขาดได้จริง นี้คือ การลดต้นทุนพลังงานให้กับระบบเศรษฐกิจไทย" นายวรภพ กล่าว

3.การยกเครื่องกฏหมายการค้าฉบับใหม่ ซึ่งกฏหมายฉบับนี้ รัฐไทยไม่มีอำนาจยับยั้งควบรวมกิจการได้ พรรคจะยกเครื่องกฏหมายฉบับใหม่ เปลี่ยนที่มาและเพิ่มอำนาจคณะกรรมการในการยับยั้งการควบรวมผูกขาดให้ชัดเจน เพิ่มสิทธิอุทรณ์ให้ผู้บริโภคในการยับยั้งควบรวมกิจการและคุ้มครองการแฉคนฮั้วประมูล

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประกาศวาระ "UNLOCK เศรษฐกิจสร้างสรรค์" การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ซอฟท์พาวเวอร์ โดยจะเข้าไปดูในภาคอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และไปทำความเข้าใจภาคการผลิตที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการทำระบบต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

โดยเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท มีคนทำงานในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประมาณ 9 แสนกว่าคน ซึ่งพรรคต้องไปยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นนโยบายหลักของประเทศ โดยการเพิ่มงบประมาณให้กับกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อทำให้การแก้ปัญหาชัดเจนมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งต้องเติมเงินในกองทุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จุดเริ่มต้นคนตัวเล็กที่อยากแสดงความสามารถ และไปอุดหนุนให้เขามีซอฟโลนเพื่อทำธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้

ทั้งนี้ พรรคจะมีการเปิดพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในจังหวัดต่างๆ ที่มีแหล่งผลิตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และมีแนวคิดเรื่องให้คูปองเปิดโลก 2,000 บาท เรามีพื้นที่ในราชพัสดุ พื้นที่ทหาร หน่วยงานรัฐ เอาพื้นที่มาทำงานตรงนี้มากขึ้น

นอกจากนี้จะมีการปลดล็อก พ.ร.บ.เซ็นเซอร์ ให้ช่วยระเบิดความคิดสร้างสรรค์ นำความคิดสร้างสรรค์ไปต่อยอดเศรษฐกิจได้

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงินและนักยุทธศาสตร์ด้านข้อมูล ประกาศวาระ "แปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์" กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไม่เติบโตไปมากกว่านี้ ถ้ารัฐไม่เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำ การใช้เทคโนโลยีมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บนเศรษฐกิจดิจิทัล และรัฐเปลี่ยนบทบาทหน้าที่แปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์ให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ต้องเอาข้อมูลมาวิเคราห์สร้างประโยชน์ขึ้นมา

บทบาทหน้าที่ใหม่ของรัฐที่ต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เป็นขุมทรัพย์ โดยรัฐต้องทำหน้าที่ทำโครงสร้างพื้นฐานใน 3 เรื่อง คือ 1.การพัฒนามาตรฐานข้อมูล สร้างถนนให้ข้อมูลเชื่อมโยงได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน 2.การสร้างกลไกลควบคุมความเป็นส่วนตัว และคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูล และ 3.การสร้างพื้นที่จัดเก็บทรัพยกรของข้อมูลให้พร้อมให้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นขุมทรัพย์ให้เอกชนนำมาสร้างแฟลตฟอร์ม สร้างบริการใหม่ๆ และช่วยลดต้นทุนการริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ เช่น การมีข้อมูลการเงินที่ครอบคลุมจะช่วยให้เกิดธุรกิจฟินเทคที่ช่วยแข่งขัน ช่วยให้ SME เข้าถึงสินเชื่อได้กว้างขึ้น และมีดอกเบี้ยที่ถูกลงอย่างน้อย 5-10%

ทั้งนี้ นโยบายการแปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์ของพรรค เน้นให้รัฐเปลี่ยนแปลงบทบาทให้ทันโลกที่เปลี่ยนไป และการทำสวัสดิการของรัฐต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ต้องวัดผลได้ ซึ่งประเทศยังมีโอกาสทำเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้

แนวนโยบายแก้เกษตรกรของหลายรัฐบาลที่ผ่านมาเลือกการพักชำระหนี้ และไม่ได้มองไปถึงรากลึกปัญหา เราหวังให้เกษตรกรอยู่คู่เมืองไทย แต่ไม่เคยมีสวัสดิการสำหรับชนบทและเกษตร ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน เอกสารสิทธิ์ไม่สามารถค้ำประกันได้ ไม่เคยมีแนวทางปลดล็อกในหนี้สินตัวเอง นำมาสู่ปัญหาเรื้อรัง

ทั้งนี้ พรรคเห็นว่า สิ่งที่ต้องทำคือ การเติมทางเลือกให้เกษตรกร ต้องมีสวัสดิการ ต้องสามารถปลดหนี้สินได้ และสามารถเลือกเส้นทางชีวิตตัวเองได้ เช่น การเปลี่ยนพืชไร่ เป็นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูง และการพักหรือออกจากภาคเกษตร ซึ่งเกษตรจำนวนมากที่อายุมากกว่า 70 ปี กว่า 4 แสนคนไม่สามารถออกจากภาคเกษตรได้ เพราะยังมีหนี้สินอยู่

"เราต้องหยุดกักขังชนบทไทยไว้ในมายาคติของเรา เราต้องเปิดทางเลือกให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ ที่ดินทำกิน ปลดล็อกเรื่องหนี้สิน เรื่องการแปรรูป การตลาดต่างๆ" นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ประกาศวาระ "หยุดแช่แข็งชนบทไทย" กล่าวว่า พรรคเสนอสวัสดิการถ้วนหน้า เกษตรสูงอายุต้องได้รับเบี้ยยังชีพ 3 พันบาทต่อคนต่อเดือน แม่ที่เป็นเกษตรกรและมีลูก ต้องมีเงินเลี้ยงดูลูก 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 6 เดือน ลูกที่เกิดในครอบครัวเกษตร ต้องได้รับ 1,200 บาทต่อเดือน

ส่วนเรื่องที่ดินดินทำกินนัน พรรคพร้อมจัดตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิ์และรับรองสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เกษตรที่อยู่มาก่อนต้องได้รับฉโนด ที่ดิน 10 ล้านไร่ ต้องตกอยู่ในมือของเกษตรกร ที่ดินสปก. 40 ล้านไร่ ต้องเปลี่ยนเป็นฉโนดให้กับเกษตรกร โดยมีเกณฑ์พิจารณา 4 ข้อ 1.ต้องใช้ประโยชน์จริงไม่ต่ำกว่า 10 ปี 2.ต้องมีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท 3.ต้องได้รับสิทธิ์ไม่เกิน 50 ไร่ และ 4.ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินนั้นในเวลา 10 ปี เราพร้อมปลดหนี้เกษตรผู้สูงอายุ เราพร้อมเช่าที่ดินเกษตร เพื่อมาปลูกป่าและมาชำระหนี้ เราพร้อมลงทุนในโซล่าร์เซลล์ และพร้อมสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อมีมูลค่าเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ