เลือกตั้ง'66: กกต.จับตาดีเบต "ธนาธร-หมอมิ้งค์" ใส่ร้ายเปลี่ยนสูตรคำนวน ส.ส. แย้มอีก 2 วันเปิดข่าวใหญ่

ข่าวการเมือง Tuesday May 2, 2023 18:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่าจะมีการยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง โดยย้ำว่า ขณะนี้ไม่มีสัญญาณเรื่องการยุบพรรค แต่อาจจะมีอะไรเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันนี้

อย่างไรก็ตามหากมีเรื่องที่ไม่ถูกต้องจะแจ้งให้ทราบ ไม่มีอะไรปิดบัง ยืนยันจะการทำหน้าที่ตรงไปตรงมา

พร้อมกันนั้น นายปกรณ์ ยังกล่าวถึงการติดตามข่าวที่มีผลกระทบต่อการทำงานของ กกต. โดยจะเน้นไปที่ต้นตอของข่าวที่จะมีการพิจารณาถึงการดำเนินคดี เบื้องต้นมี 2 เรื่อง กรณีการจัดดีเบตที่ จ.ชลบุรี ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ใช้คำพูดระบุว่า "ปี 62 กกต.เปลี่ยนแปลงสูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรณี น.พ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช แกนนำพรรคเพื่อไทย ดีเบตในเวทีเนชั่น ระบุว่า กกต.เปลี่ยนสูตรการคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ

ทั้งที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการดำเนินการของ กกต.ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ยังใช้คำพูดเหล่านี้เพื่อให้ตนได้คะแนนนิยม ซึ่งกกต.จะพิจารณาเรื่องนี้หลังการเลือกตั้งเพราะถ้าทำตอนนี้จะมีผลต่อคะแนนเสียง เบื้องต้นให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูล ซึ่งการจะดำเนินคดีกับใครนั้นจะมาจากมติของ กกต.

และขอขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่แม้สื่อมวลชนพยายามขอให้วิจารณ์การทำงานของกกต. แต่นายเศรษฐาก็ขอไม่พูดถึง กกต.เป็นการส่วนตัว

"มีหลายเรื่องจบไปแล้ว แต่ก็ยังเอามาพูดให้ได้คะแนนเสียงว่า กกต.ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันถูกต้องสมควรหรือไม่ ท่านมีสิทธิเราเคารพในสิทธิของท่าน ท่านก็ต้องเคารพในสิทธิของเราด้วย...เราพยายามอดทนไม่ให้เป็นคดี ในการประชุมกกต.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการพิจารณาเรื่องคนที่ด่าเรา ว่าเรา แต่ที่ประชุมก็มีมติไม่ดำเนินคดี จะดำเนินคดีเฉพาะต้นตอ และเรื่องที่ไม่ความจริง ส่งผลต่อให้การเลือกตั้งไม่สุจริต และอดทนและใช้ช่องทางชี้แจง"

ในวันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดศูนย์ปฏิบัติงานคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จที่จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ กกต. รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ให้ประชาชนรับทราบ และเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.

นายฐิติเชฎฐ์ นุชนาฎ กกต. กล่าวว่า กกต.จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อให้มีคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ ขึ้นมาคอยตรวจสอบ และชี้แจงข้อเท็จจริง จากนั้นก็จะรายงานให้ กกต.ได้รับทราบโดยจะเน้นการชี้แจงข่าวเท็จจริงและไม่เป็นความจริงเพื่อให้ทันต่อการแก้ไขสถานการณ์ เนื่องจากในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 62 พบว่ามีข่าวเท็จจำนวนมากที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของ กกต.

ข่าวที่ไม่เป็นความจริงเป็นการทำลายและทำให้การทำงานของกกต.ไม่ราบรื่น และในครั้งนั้นก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดี และศาลก็ได้มีคำพิพากษาแล้ว และในการเลือกตั้ง ปี 66 ก็คาดว่าน่าจะมีข่าวเหมือนเช่นปี 2562 โดยผู้ที่ไม่หวังดี ยังมีอยู่ แม้กกต.จะให้ข้อมูลมากเพียงไร ก็ยังมีผู้ที่มีอคติต่อการทำงานของกกต.ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยง จึงยังมีข่าวเท็จเผยแพร่ในโซเชียล โดยได้มีการแจ้งต่อผู้โพสต์หากยังไม่แก้ไข ก็จะมีการดำเนินคดีต่อผู้ให้ข่าวและผู้ประสงค์ดีกับกกต. อย่างไรก็ตามกกต. ยังเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ใช่การใส่ร้ายหรือให้ความเท็จจริง

ส่วนเรื่องพิมพ์บัตรเลือกตั้งสำรองเกิน 7 ล้านเล่ม นายปกรณ์ ยืนยันว่า เป็นการพิสำรอง 5 ล้านใบเท่านั้น เนื่องจากการพิมพ์บัตรต้องพิมพ์เป็นเล่มและสำรองแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ๆ ละ 1 เล่ม ซึ่งประเทศไทยมีประมาณ 1 แสนหน่วย ฉะนั้นก็สำรองส่วนนี้ 2 ล้านใบ รวมทั้งสำรองให้กรรมการประจำหน่วยและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยเลือกตั้งที่จะใช้สิทธิในหน่วยดังกล่าวอีก 1 เล่ม ทั้งสองส่วนนี้ก็เกือบ 4 ล้านใบแล้ว นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความผิดพลาดในการพิมพ์ ที่บางเล่ม มีจำนวนไม่ครบ หรือการพิมพ์ผิดพลาด ก็ต้องสำรองไว้อีก 1 ล้านใบ รวมแล้วก็เกือบ 5 ล้านใบ

"เราไม่จำเป็นต้องพิมพ์บัตรมากเกินไปแต่ต้องสำรองไม่ให้ผิดพลาด ต้องไม่มีการทุจริตในเรื่องบัตรเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปิดการลงคะแนนทุกหน่วยจะติดประกาศที่หน้าหน่วยให้ทราบว่าใช้บัตรเลือกตั้งไปเท่าไร ผู้ใช้สิทธิเท่าไร เราถึงให้ความมั่นใจกับท่าน หากเกิดความผิดพลาดเล็กน้อย เราได้แก้ไขในทันทีและจัดให้ถูกต้องโดยเร็ว การผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกิดจากการเกิดทุจริต "

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ