"อนุสรณ์" จี้ 8 พรรคร่วมยึดมั่น MOU หากก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ ชูเพื่อไทยขึ้นแทน

ข่าวการเมือง Sunday July 16, 2023 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่า พรรคการเมือง 8 พรรคประชาธิปไตยควรยึดมั่นต่อเจตนารมณ์ของประชาชน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ต้องรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้

การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว จะทำให้ประชาชนเสียงข้างมากผิดหวัง และทำให้ขบวนการประชาธิปไตยทั้งขบวนอ่อนแอลง และพรรคการเมืองต่างๆ ต้องยืนยันไม่สนับสนุนจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่

นายอนุสรณ์ มองว่า การแสวงหาทางออกจากข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องพยายามทำผ่านกลไกรัฐสภา หลีกเลี่ยงการชุมนุมทางการเมืองใดๆ อันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงวิกฤตการณ์ทางการเมือง หรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจของประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ

"หากพรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำทำเต็มที่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ควรสลับให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เพื่อรักษาเจตนารมณ์ของประชาชน" นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ส.ว.ส่วนใหญ่ได้ทำลายเจตจำนงของประชาชน ตามประชาธิปไตยไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและเกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สร้างความแตกแยกในสังคม

ประเด็นดังกล่าวถูกนำมาเป็นประเด็นหลักในการสร้างเงื่อนไขทางการเมือง และทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเสื่อมเสีย การกล่าวหาว่าจะมีการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นการใช้กลเกมทางการเมืองที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และทำให้เกิดความขัดแย้งเผชิญหน้าในสังคม และอันอาจนำมาสู่ความรุนแรงได้

ความจริงแล้ว ส.ว.ที่มีวุฒิภาวะและเห็นแก่ประโยชน์สาธารณะ (โดยเฉพาะ 13 ท่าน ที่ลงคะแนนตามพรรคการเมืองเสียงข้างมาก) จะไม่ใช้วิธีการแบบนี้ในการต่อสู้ความเห็นต่างในประเด็นมาตรา 112 ความเห็นต่างทางการเมือง ความเห็นต่างในประเด็นมาตรา 112 สามารถหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งรุนแรง

"ส.ว.ต้องตระหนักว่า การกระทำที่ไม่ยอมรับฉันทามติของประชาชน จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมายต่อประเทศและประชาชน ระบบการเมืองอันบิดเบี้ยวภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 แนวทางเดียวที่วุฒิสมาชิกจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลใหม่ ก็คือ การลงคะแนนเสียงที่สอดคล้องกับเสียงของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การออกเสียงสวนทาง งดออกเสียง หรือขาดประชุม" นายอนุสรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ เพื่อให้รัฐบาลใหม่สามารถบริหารงาน โดยไม่ต้องเผชิญนิติสงคราม และการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ผ่านองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญตลอดเวลา จึงเสนอให้รัฐสภาออกคำสั่งทางกฎหมาย ให้การดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. และกรรมการในองค์กรอิสระ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ และมาจากระบบการคัดเลือกของ คสช.พ้นจากตำแหน่ง และให้มีกระบวนการสรรหาและคัดเลือกใหม่ ที่มีที่มาจากระบบการคัดเลือกที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ซึ่งการสรรหาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ได้กระบวนการที่เชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น ป้องกันการใช้นิติสงครามสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ