นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าจะให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นที่ปรึกษา หลังจากพ้นโทษว่า ต้องดูในหลักนิติธรรมเป็นหลัก แม้นายทักษิณ จะเคยเป็นอดีตนายกฯ มีคุณงามความดี แต่ก็มีคดีติดตัวถึง 3 คดี ส่วนตัวคิดว่าเพื่อให้เกิดหลักนิติธรรม และเกิดการสร้างความปรองดองในประเทศ ควรพิจารณาเรื่องนิติธรรมควบคู่ไปกับความเหมาะสม
"นายทักษิณ ควรเข้าสู่ระบบนิติธรรมอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงเปิดเผยการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ที่ยังไม่ทราบว่าทำการรักษาอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ วันจันทร์ที่ 25 ก.ย. ทางคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ และ ผอ.ราชทัณฑ์สถาน ที่ดูแลอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ และเชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่าขั้นตอนการรักษามีมาตรฐานอย่างไร แต่คงไม่ถึงขั้นก้าวล่วงถามถึงอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ" นายสมชาย กล่าวนายสมชาย กล่าวอีกว่า การที่นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะแต่งตั้งนายทักษิณ เป็นที่ปรึกษานายกฯ นั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะมีอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนที่สามารถขอคำปรึกษาได้ เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, นายชวน หลีกภัย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายอานันท์ ปันยารชุน แม้กระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
"คิดว่าเร็วเกินไป ที่นายเศรษฐา จะมาตอบว่า จะให้นายทักษิณ มาเป็นที่ปรึกษารัฐบาล เพราะเรื่องนี้จะกระทบความเชื่อมั่น กระทบเรื่องกระบวนการยุติธรรม ความศรัทธาต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถ้าเป็นไปได้ ก็อย่าไปตั้งเลย ขอคำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการดีแล้ว" นายสมชาย กล่าวพร้อมระบุว่า การที่นายเศรษฐา พูดถึงการจะแต่งตั้งนายทักษิณ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องผ่านด่านที่ 1 ก่อน คือ การให้นายทักษิณ เข้าสู่กระบวนการรับโทษ ส่วนเกณฑ์การขอรับโทษเพิ่มเติม ตนคิดว่านายทักษิณได้มากพอสมควรแล้ว ในต่างประเทศมีอดีตผู้นำหลายประเทศที่มีคดีทุจริต ก็ต่างเข้าสู่กระบวนการด้วยกันทั้งสิ้น
ประการต่อมา ถ้านายทักษิณ จะเป็นต้นแบบในการปรองดอง ตนเห็นว่ารัฐบาลน่าจะหยุดคดีความเรื่องของความขัดแย้งในอดีตหลังรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในปี 47-48 จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 49 ในคดีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่มีการบาดเจ็บล้มตาย รวมถึงคดีปิดสนามบิน คดีเผาศาลากลางจังหวัด ตลอดจนคดีอื่น ๆ ถ้าเป็นเหตุเรื่องการเมืองที่ไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิต เพียงแค่มีความเสียหายด้านทรัพย์สิน สิ่งเหล่านี้น่าได้รับการเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการปรองดอง ที่พิจารณาออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เว้นแต่คดีมาตรา 112 ซึ่งบุคคลที่จะได้รับอภัยโทษ อาจต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณเอง และต้องสำนึกผิดเอง
"บางเรื่องอย่าไปใจด่วนใจเร็ว นายเศรษฐา อาจจะเคยเป็น CEO บริษัทที่สั่งแล้วต้องได้ทุกอย่าง แต่คิดว่าบางเรื่อง ฟังเสียงติติงก่อนแล้วค่อยพิจารณา อาจจะช้าไปนิด แต่เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนกว่า" นายสมชาย ระบุ