"พิธา" คัมแบ็คสภาฯ รอบ 6 เดือน พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านจับตา 3 โครงการเรือธงรัฐบาล

ข่าวการเมือง Thursday January 25, 2024 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค เดินทางเข้ารัฐสภา หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีถือหุ้น บมจ.ไอทวี (ITV) ไม่ส่งผลให้สิ้นสุดสถานภาพการเป็นส.ส. โดยนายพิธา กล่าวว่า เป็นการเข้าสภาฯ ในฐานะ สส.ครั้งแรกในรอบ 6 เดือนหลังจากศาลฯ มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนก.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งยอมรับทำให้เสียโอกาสในการเลือกนายกรัฐมนตรี

แต่ทั้งนี้ ตลอดระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้ใช้เวลาไปกับการลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ จ.สมุทรปราการ และ จ.ภูเก็ต จนได้เห็นปัญหาขยะล้นเมือง และจะนำข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดในการลงพื้นที่ดังกล่าวเข้าไปอภิปรายในสภาฯ วันพรุ่งนี้ (26 ม.ค.)

นอกจากนั้น ในวันพรุ่งนี้ จะมีการแถลงแผนงานพรรคก้าวไกล เพื่อให้ประชาชนและสมาชิกมีส่วนร่วมในการทำงานในปีหน้า ส่วนจะกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า ต้องรอการประชุมวิสามัญของพรรคในเดือนเม.ย. ซึ่งขึ้นอยู่กับการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ อย่างไรก็ดี ตนไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งนี้ และมองว่านายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนปัจจุบัน สามารถทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว

เมื่อถามว่ามีอะไรอยากจะฝากถึงรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีถึงข้อควรระวังหรือไม่ รวมถึงการอภภิปรายไม่ไว้วางในด้วย นายพิธา กล่าวว่า ตนยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ค้านทุกเรื่อง แต่หากมีอะไรที่พบความไม่ชอบมาพากลก็พร้อมตรวจสอบ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา การกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ที่ไม่กระทบสภาพแวดล้อม ซึ่งตนย้ำเสมอว่าขณะนี้มีวาระร่วมเพื่อประชาชนมากมาย โดยที่ไม่คำนึงว่าต้องเป็นพรรคไหนหรือฝ่ายไหน เช่น เรื่องสมรสเท่าเทียม เรื่องอากาศสะอาด เป็นต้น

นายพิธา กล่าวด้วยว่า จะจับตา 3 โครงการสำคัญของรัฐบาลเป็นพิเศษซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล ประกอบด้วย โครงการแลนด์บริดจ์ ดิจิทัลวอลเล็ต และซอฟต์พาวเวอร์ โดยเฉพาะดิจิทัลวอเล็ต ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการตรวจสอบของพรรคก้าวไกล ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าประชาชนเดือดร้อนพอสมควร และเศรษฐกิจเติบโตช้าและซบเซาเป็นเวลานาน ซึ่งไม่ได้เป็นความความผิดของรัฐบาลที่เพิ่งบริหารมา 6 เดือน

แต่ในขณะเดียวกัน ก็กังวลว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยนำงบประมาณระยะยาวมาใช้ ทำให้ไม่มีพื้นที่การคลังเหลือในการแก้ปัญหาระยะยาว อาจจะไม่ได้เป็นแนวทางที่เหมาะสม

"อยากชวนรัฐบาลคิด ว่ามีแผน 2 หรือไม่ และคิดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยไม่จำเป็นต้องแจกเงิน" นายพิธาระบุ

ส่วนคดีล้มล้างการปกครอง จากกรณีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค. ซึ่งอาจเป็นหัวเชื้อไปสู่การยุบพรรคนั้น นายพิธา กล่าวว่า รู้สึกเหมือนกับคดีไอทีวี ซึ่งแยกแยะได้ว่าสิ่งใดที่ควบคุมได้ หรือสิ่งใดที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งส่วนใดที่สามารถควบคุมได้ ก็จะทำอย่างเต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ