"ดิจิทัลวอลเล็ต" นโยบายนิ่งกี่โมง! "ศิริกัญญา" แซะ "เศรษฐา" นายกฯ พาร์ทไทม์

ข่าวการเมือง Wednesday April 3, 2024 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายทั่วไปถึงผลงานรัฐบาลว่า ผลงานของรัฐบาลจาก 3 เดือนมา 6 เดือนเพิ่มขึ้นน้อยมาก โดยไม่มีการนับรวมนโยบายเรื่องซอฟท์พาวเวอร์ และโครงการแลนด์บริดจ์ อีกทั้งยังไม่เห็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

"เป็นแบบนี้เพราะว่า เป็นนายกรัฐมนตรีแบบพาร์ทไทม์หรือไม่ เพราะส่วนหนึ่งต้องเดินทางเป็นเซลล์แมนของประเทศไทยหรือไม่ ทำให้ไม่มีใครมาบริหารราชการแผ่นดินแบบฟูลไทม์ ผลงานรอบ 6 เดือน มีเพิ่มเติมมาน้อยเหลือเกิน" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

สำหรับมาตรการลดรายจ่ายของรัฐบาลที่ทยอยหมดอายุลง เช่น นโยบายลดภาษีสรรสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาท/ลิตร สิ้นสุดมาตรการ 31 ม.ค.67 หรือ ลดภาษีสรรสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาท/ลิตร สิ้นสุดมาตรการ 19 เม.ย.67 เป็นต้น ดังนั้นอยากทราบว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อ หรือจะเป็นเพียงการลดค่าครองชีพแบบชั่วครั้งชั่วคราว โดยไม่มีการแก้ปัญหาระยะยาว ทำให้กองทุนน้ำมันแบกรับภาระต่อไป ซึ่งปัจจุบันสถานะกองทุนติดลบไปแล้ว 1 แสนล้านบาท

พร้อมตั้งคำถามว่า ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ จะได้เห็นมาตรการใดเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อพยุงกำลังซื้อระยะสั้นของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเศรษฐกิจฐานราก

*"ดิจิทัลวอลเล็ต" ขายผ้าเอาหน้ารอด เปลี่ยนแหล่งที่มาหลายรอบ

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังกล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดถึง 5 ครั้ง โดยเฉพาะเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้แหล่งเงินจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย งบกลางปี 67 โดยการกู้ชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดานอีก 1 แสนล้านบาท และโอนเปลี่ยนแปลงงบกลางอีก 40,000 ล้านบาท, งบประมาณปี 68 โดยการเพิ่มงบเป็น 3.75 ล้านล้านบาท กู้ชดเชยขาดดุล 865,7000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150,000 ล้านบาท และการกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) โดยให้ ธกส. แจกเงินดิจิทัลให้ครัวเรือนเกษตรกร 210,000 ล้านบาท

"สรุปแล้ว รัฐบาลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงใช่ไหม เรื่องความรู้ความเข้าใจการคลัง ทำให้ดิฉันตกใจว่าทำไมถึงกล้าออกนโยบายแบบนี้มาได้ และการที่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะขนาดนี้ ยิ่งแสดงว่าไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมใดๆ มาตั้งแต่เริ่มต้น ถึงต้องขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ แบบนี้ แล้วท่านก็ขยันแถลงมาก อาทิตย์เดียวแถลงไปถึง 2 ครั้ง โดยที่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

พร้อมระบุว่า ประเทศได้รับความเสียหาย เพราะโมเมนตัมหรือพายุหมุนทางเศรษฐกิจจะไม่เกิด คนอาจจะไม่เชื่อมั่น จึงเป็นปัญหาที่ตนคิดว่าไม่ใช่เป็นเพราะนโยบายใดนโยบายหนึ่ง จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลเรียกร้องความเชื่อมั่นกลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจได้แล้ว ตอนนี้ทำได้ไม่กี่นโยบายก็นิ่งสนิท แล้วยังต้องให้ประชาชนรอไปอีก

* Tourism Hub ไม่ช่วยแก้ปัญหาโครงสร้าง

ในเรื่องของการท่องเที่ยว แม้รัฐบาลจะออกมาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ก็อาจจะช่วยภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ได้มากนัก เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปแล้ว หากดูจำนวนที่นั่งในเที่ยวบินจากจีนไปประเทศต่าง ๆ จะพบว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยนำมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ แต่ในช่วงหลังโควิด-19 ญี่ปุ่นได้แซงประเทศไทยไปแล้ว รวมถึงเกาหลีใต้ที่กำลังหายใจรดต้นคอจะแซงไทยเช่นกัน

"คำถามคือ นโยบาย Tourism Hub ของรัฐบาล จะช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างแบบนี้ได้อย่างไร จะช่วยให้ประเทศไทยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนมากเกินไปได้อย่างไร" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
*ทวงถามแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลัก

ส่วนปัญหาที่สินค้าจีนที่ไหลทะลักเข้ามา แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ต้องทวงถามไปยังรัฐบาลว่าจะมีมาตรการรับมืออย่างไร แน่นอนว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องปกป้องทุกกลุ่มทุกอุตสาหกรรม การค้าเสรีมีประโยชน์ และผู้บริโภคได้ประโยชน์แน่นอน แต่ถ้าจะเปิดกว้างแบบไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ควรเช่นกัน เพราะปัญหาเริ่มลุกลามไปทั้งห่วงโซ่อุปทานแล้ว ตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงเอสเอ็มอีที่ต้องทยอยปิดกิจการลง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ถูกถล่มราคาอย่างหนัก คำถามคือเรื่องของความสามารถในการแข่งขันกับประเทศจีน รัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไร

*แผนรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่การเตรียมตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบประมาณ 890,000 คนที่ อาจจะตกงานได้ ถ้ารัฐบาลไม่มีแผนในการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า จึงอยากทราบว่า รัฐบาลจะมีนโยบายการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่หรือไม่ หรือจะจมปลักกับอุตสาหกรรมที่ตกยุค

"ขอเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจได้แล้ว เพราะรัฐบาลได้อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชน แต่ทำไปได้แค่ไม่กี่นโยบาย ตอนนี้ก็นิ่งสนิท งบกลางก็ไม่มีออก งบกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่มี แล้วยังจะต้องให้ประชาชนรอไปอีกจนถึงไตรมาส 4 ของปี 2567 โดยที่ยังไม่รู้ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่" รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ