ชมรมอดีต สสร.ตั้งป้อมเคลื่อนไหวค้านรัฐเสนอแก้ไข รธน.ฉบับปี 50

ข่าวการเมือง Tuesday May 20, 2008 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ชมรมอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เคลื่อนไหวให้ข้อมูลเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 พร้อมวัดกระแสประชาชนเห็นด้วยหรือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เล็งตั้งป้อมตรวจสอบละเอียดหากรัฐบาลยื่นแก้ไข ต้องไม่ซ่อนเร้นทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรมฯ แถลงภายหลังการประชุมชมรมฯ ว่า ชมรมได้สรุปเอกสารทางวิชาการที่ได้เทียบเคียงข้อดี-ข้อเสียของรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำเสนอผ่านเว็บไซต์ www.ssr50.org เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ พร้อมกันนั้นจะเปิดให้ประชาชนลงชื่อแสดงความคิดเห็นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ชมรมยังเห็นร่วมกันที่จะหยิบยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหากรัฐบาลเสนอญัตติต่อสภาฯในวันที่ 21 พ.ค.ว่าสาระในการแก้ไขเพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีการซ่อนแร้น ต่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือไม่
"หากร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอต่อสภาดังกล่าวของรัฐบาล มีการซ่อนเร้นเพื่อประโยชน์ส่วนตนจริง ทางชมรมส.ส.ร.50 ขอดูท่าทีของภาคประชาชนก่อนว่า จะมีการคัดค้านเพื่อยื่นถอดถอนส.ส.ที่มีส่วนรู้เห็นหรือไม่เพราะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา122 ชัดเจน หากไม่มีการยื่น ทางชมรมอาจจะยื่นคัดค้านต่ออัยการสูงสุดตามมาตรา68 โดยมีเหตุตามมาตรา 122"ประธานชมรมส.ส.ร.50กล่าว
สำหรับเอกสารวิชาการที่ระบุถึงความเสียหายในการรีบเร่งแก้รัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 50 ประกาศใช้เพียงไม่กี่เดือน และใช้ยังไม่ครบทุกมาตรา การเร่งรีบขอแก้ไขน่าจะมีเหตุจูงใจเพื่อตัดตอนคดียุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237 วรรคสอง และล้มล้างการดำเนินการตรวจสอบทุจริตพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
การจะนำรัฐธรรมนูญฉบับ 40 มาใช้แทนเป็นการกลบเกลื่อนเสียงวิจารณ์จากสังคม และมีผลลบล้างมาตรา 237 วรรคสอง และมาตรา 309 ไปในตัว นอกจากนี้หากยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 แล้วกลับไปใช้ฉบับ 40 จะเกิดความเสียหายมาก เพราะฉบับ 40 ถูกพรรคการเมืองใช้อำนาจบิดเบือนทำลายจนตายไปแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
เอกสารระบุว่า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการนำรัฐธรรมนูญ 40 มาใช้ได้แก่ การเปิดโอกาสให้มีการผูกขาดอำนาจรัฐ ไม่โปร่งใส ไร้จริยธรรม เพราะจะตรวจสอบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียากขึ้น เนื่องจากต้องใช้เสียงส.ส.เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่าที่ฉบับ 50 บัญญัติ
การยกเลิกมาตรา 237 วรรคสอง จะยิ่งทำให้การซื้อเสียงรุนแรงขึ้นเพราะไม่มีบทลงโทษเด็ดขาด และยังตัดตอนล้มคดียุบพรรค เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองควบรวมพรรคหลังเลือกตั้งได้ 4.ไม่มีหมวดที่ว่าด้วยจริยธรรมคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ไม่สามารถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ 5.เปิดโอกาสให้มีการทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะคู่สมรสและบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถเป็นหุ้นส่วนหรือถือครองหุ้นบริษัทธุรกิจต่อไปได้ อาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตัว
เปิดโอกาสให้นักการเมืองและพรรคการเมืองครอบงำส.ว. , เปิดโอกาสให้นักการเมืองแทรกแซงข้าราชการและหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากไม่มีมาตรา 266 ,เปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระผานกระบวนการสรรหา เพราะระบบการสรรหาของฉบับ 40 ไม่สามารถป้องกันการบล็อกโหวตได้, เปิดโอกาสให้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมจากการที่ไม่มีมาตรา 309 รองรับการตรวจสอบคดีทุจริตของคตส. เป็นต้น
ในเอกสารวิชาการดังกล่าวมีข้อเสนอว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อส่วนรวม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม คดีความที่อยู่ในศาล ขัดต่อหลักนิติรัฐ และไม่ใช่การแก้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ใด หรือของนักการเมือง พรรคการเมือง นายทุนพรรค และควรแก้เมื่อพบว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติส่วนรวม ที่สำคัญจะต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ขณะนี้ควรชะลอการแก้ไขไว้ก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ