พันธมิตรฯคาดครบ 2 หมื่นชื่อสัปดาห์นี้ ชุมนุมยืดเยื้อจนถอนญัตติแก้รธน.

ข่าวการเมือง Monday May 26, 2008 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคาดว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ครบ 2 หมื่นรายชื่อภายในสัปดาห์นี้จากที่รวบรวมได้แล้วครึ่งหนึ่ง เพื่อประกอบคำร้องขอให้ประธานวุฒิสภานำเข้าสู่กระบวนการถอดถอน ส.ส.และส.ว.ที่ยื่นญัตติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หลังจากที่แกนนำพันธมิตรฯ ได้เข้าแสดงเจตนารมณ์ไว้แล้วในวันนี้ พร้อมประกาศชุมนุมยืดเยื้อ
นายสุริยะใส กตะศิลา หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า พันธมิตรฯจะจัดชุมนุมอย่างยืดเยื้อต่อไปจนกว่าจะมีการถอนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือทันทีที่ญัตตินี้เป็นโมฆะ โดยสัปดาห์นี้จะล่าชื่อประชาชนครบ 2 หมื่นคนเพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภา
"เราจะไม่อยู่ในเกมประชามติของรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่านอกจากเงิน 2 พันล้านบาทจะซื้อความรำคาญของนายสมัครและซื้อความสงบสุขไม่ได้แล้วยังสร้างความขัดแย้งให้บานปลายออกไปอีก และการทำประชามติโดยที่ไม่หยุดกระบวนการในสภาเท่ากับเป็นเกมเล่นการเมืองสองหน้าเท่านั้น"นายสุริยะใส กล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 09.40 น.แกนนำพันธมิตรฯ เข้ายื่นหนังสือขอแสดงตนในการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เพื่อถอดถอนประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.และส.ว.จำนวนหนึ่งที่ร่วมลงนามเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550 ต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา
หนังสือดังกล่าวให้เหตุผลการถอดถอน ส.ส.และส.ว.ว่าได้เห็นความผิด 4 ข้อคือ 1.ความผิดของส.ส.ตามมาตรา 122 เป็นการปฎิบัติหน้าที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากส.ส.บางส่วนสังกัดพรรคการเมืองที่กำลังถูกดำเนินคดียุบพรรค 2.ความผิดของส.ว.ตามมาตรา 122 เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมุ่งเปลี่ยนโครงสร้างของวุฒิสภาทั้งที่มาและอำนาจหน้าที่หวังเพิ่มอำนาจให้ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ยุบส.ว.ที่มาจากการสรรหา
3.ความผิดตามมาตรา 291 เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งเนื้อหาและรูปแบบที่เสนอมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มีลักษณะเป็นการให้นำบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 40 มาบังคับใช้แทนเป็นการขัดหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 4.ความผิดตามมาตรา 68 ที่พบว่าญัตติขอแก้ไขครั้งนี้ทั้งรูปแบบและวิธีการในการเสนอต่อรัฐสภาเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญปี 50 บัญญัติไว้
ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าว ว่า วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะกระบวนการจากนี้ไปกลุ่มพันธมิตรจะต้องไปหารายชื่อประชาชนให้ครบ 2 หมื่นรายชื่อ จากนั้นต้องส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการถอดถอนตามคำร้องยังอีกนาน ซึ่งวุฒิสภามีหน้าที่พิจารณารายชื่อรวมถึงเอกสารความถูกต้องเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ