(เพิ่มเติม) ศาลรธน.ระบุ"นพดล"ลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาไม่ผ่านสภาฯ ขัดมาตรา 190

ข่าวการเมือง Tuesday July 8, 2008 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาหรือหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งการลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ได้ส่งเรื่องเพื่อขอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.51 ที่สนับสนุนกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกถือเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรค 2 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่นั้น
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ได้ลงมติใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และประเด็นที่สองศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
ทั้งนี้ การวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 มีนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการรัฐธรรมนูญ เพียงเสียงเดียวที่เห็นว่าแม้คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.51 จะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญจะส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ส่วนการวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่อยู่นอกเหนือจากประเด็นที่ประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภาส่งเรื่องมานั้นไม่สามารถกระทำได้เพราะถือว่าอยู่นอกเหนือกรอบที่ตุลาการรัฐธรรมนูญจะดำเนินการ โดยจะวินิจฉัยเฉพาะเรื่องที่ร้องขอมาเท่านั้น
อนึ่ง ในมาตรา 190 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออก พ.ร.บ.เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาก่อน
และก่อนดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น และในการนี้ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
ส่วนกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการตรา ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ....นั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นอันตกไป
เนื่องจากในการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ขั้นรับหลักการ พบว่ามีสมาชิก สนช.เข้าประชุมเพียง 50 คน ซึ่งไม่ถึง 121 คน หรือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สนช.ในขณะนั้น จึงถือว่าไม่ครบองค์ประชุม การลงมติรับหลักการจึงถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ