นักวิชาการมองคดี-การเมืองเขย่า"รัฐนาวาสมัคร"นับถอยหลังล่มไม่เกิน 2-6 เดือน

ข่าวการเมือง Monday August 18, 2008 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิชาการประสานเสียงเชื่อ"รัฐนาวาสมัคร"จะถึงกาลอวสานในช่วงเวลาไม่เกิน 2-6 เดือน เนื่องจากสารพันปัญหาที่ถาโถมมารุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นกระแสทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ขณะที่นายใหญ่ พปช.บาดเจ็บหนักททำลูกแถวแพแตก แต่ไม่เชื่อวางมือการเมืองจริงแม้จะยังกลับมาไม่ได้ง่ายๆ 
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ปี 50 ทำนายว่า รัฐบาลสมัครจะมีอายุรอดทำงานต่อไปได้อีกไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงจังหวะเวลาที่ถูกหลายปัจจัยเข้ามากดดันให้รัฐบาลต้องถึงกาลอวสาน
"มีสองทางคือลาออกกับยุบสภา คงไม่มีทางรอดเป็นอย่างอื่น...อย่างมากก็สองเดือน"นายเจิมศักดิ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นอกจาก นโยบายต่างๆ ที่ถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของคดีความที่งวดลงใกล้มีคำพิพากษาเข้าไปทุกที ซึ่งตอนนี้รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ หากอยู่ต่อไปคงไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ อีกทั้งพรรคพลังประชาชน(พปช.)ที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลก็เกิดปัญหาแตกแยกรุนแรงภายในหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องหนีออกนอกประเทศ
"แม่ทัพใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังกำลังได้รับความบาดเจ็บอย่างแรง ผู้คนก็ขวัญเสีย ผมคิดว่าทางหนึ่งที่เขาคงจะเลือกทำก็คือยุบสภา...มันถึงทางตัน ถ้าคิดว่าแก้รัฐธรรมนูญได้ คุณทักษิณคงไม่ออกจากประเทศ พวกเขาคงคำนวณแล้วว่าแก้ไม่สำเร็จ"นายเจิมศักดิ์ กล่าว
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลยังรวมตัวกันได้ก็อาจเป็นแค่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อหาคนใหม่มาเป็นแทนแล้วตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลจะตีจากไปอยู่กับฝ่ายค้าน นายกรัฐมนตรีคงจำเป็นต้องตัดสินใจยุบสภาเพราะไม่มีทางไป ไม่ใช่เพราะยังเชื่อว่ามีความได้เปรียบทางการเมือง
"คิดว่าเขาคงอยากจะลาออกก่อน แต่หากพรรคร่วมรัฐบาล 4-5 พรรคกระดุกกระดิก เขาก็ยุบสภา"นายเจิมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของคดีความทั้งที่เป็นคดีส่วนตัวของนายสมัคร สุนทรเวช กรณีที่จัดรายการโทรทัศน์"ชิมไปบ่นไป" และคดีหมิ่นประมาทที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์ รวมทั้ง คดียุบพรรคพลังประชาชน และ การปรับเปลี่ยนโยกย้ายนายทหารประจำปีที่มีความเสี่ยงเรื่องการถูกรัฐประหาร
"คุณสมัคร ยังมีคดีหมิ่นประมาทในศาลอุทธรณ์(คำพิพากษา)จะออกมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าตูมออกมาก็จบเห่...และคดีชิมไปบ่นไปที่คิดว่าคงไม่เกินเดือน" นายเจิมศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้(10 ส.ค.)นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ประกาศกลางรายการสนทนาประสาสมัครว่าจะไม่ยุบสภา และไม่ลาออก แม้จะมีกลุ่มบุคคลออกมาชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลก็ตาม
ขณะที่ นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า"รัฐนาวาสมัคร"คงมีอายุการทำงานราว 8 เดือนหรือไม่เกิน 1 ปีครึ่งนับตั้งแต่วันที่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศ(ก.พ.51) โดยระยะเสี่ยงของรัฐบาลจะเริ่มตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึง 5-6 เดือนข้างหน้า เพราะหลายปัจจัยรุมเร้าเขย่าเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นศึกสายเลือด ประกาศิตศาล และการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ
"เพื่อเสถียรภาพทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างน้อยคงต้องมีการปรับ ครม.อีก หรืออาจจะยุบสภาด้วยซ้ำ แต่เชื่อว่ารัฐบาลขณะนี้คงพยายามรักษาเสถียรภาพไว้ให้ได้นานที่สุด แต่มอง 6 เดือน-1 ปีจากนี้ ต้องมีปรากฎการณ์เรื่องปรับ ครม. หรือปรับรัฐบาล" นายสมชาย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญตัวแรก คือ ศึกสายเลือดหรือเสถียรภาพภายในพรรคพลังประชาชน(พปช.) ที่เริ่มเห็นถึงความสั่นคลอนจนอาจนำไปสู่ความแตกแยก หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่หลายคนต่างรู้ดีว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักแม้จะไม่เป็นทางการของพรรค พปช.เอาตัวไม่รอดจากหลายคดีที่ถาโถมเข้ามาจนอาจจะต้องขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ
"จากที่คุณทักษิณเจอวิบากกรรม เอกภาพของพรรคพลังประชาชนถูกกระทบแน่ ที่พรรคอยู่ได้ก็เพราะคุณทักษิณ ทั้งบารมี เงินทอง คุณทักษิณไม่กลับมาค่อนข้างส่งผลต่อเสถียรภาพพรรคเยอะ ตอนนี้อาจจะยังเห็นไม่ชัด แต่สักพักเมื่อหัวไม่อยู่ ก็จะเห็นความแตกแยก เพราะพลังประชาชนเป็นการรวมกันของเสือสิงห์กระทิงแรด แต่บารมีของคุณทักษิณมีสูงจึงคุมได้"นายสมชาย ระบุ
ปัจจัยเสี่ยงถัดมา คือ ประกาศิตศาลรัฐธรรมนูญจากการตัดสินในคดียุบพรรค พปช. และพรรคชาติไทย ที่มีผลเชื่อมโยงมาถึงเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะหากศาลมีคำตัดสินให้ยุบทั้ง 2 พรรค หรือยุบพรรคใดพรรคหนึ่ง ก็คงต้องมาดูว่าภายหลังจากการตัดสิทธิทางการเมืองแก่กรรมการบริหารในพรรคที่ถูกยุบแล้ว จะยังเหลือ ส.ส.ในขั้วของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด และเป็นจำนวนที่เข้มแข็งพอจะยังคงสภาพความเป็นรัฐบาลในขั้วเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ ก็คงได้เห็นการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองแน่นอน
ปัจจัยเสี่ยงสุดท้าย คือ การไม่ละความพยายามของรัฐบาลที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง จากการที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายใหญ่ ตลอดจนพวกพ้องที่ต้องพลอยติดร่างแหในคดีต่างๆ
นายสมชาย กล่าวว่า หากรัฐนาวาสมัครมีอันต้องล่มลงจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง โอกาสที่ขั้วตรงข้าม ซึ่งหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ จะเข้ามาเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาลก็ยังพอมีให้ลุ้น เพียงแต่ขณะนี้อาจจะมองภาพได้ไม่ชัดนัก เพราะยังไม่สามารถประเมินจำนวนเสียงของ ส.ส.ในซีกรัฐบาลที่คาดว่าจะเหลืออยู่ได้
แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าโอกาสของ"หล่อใหญ่"หรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เริ่มจะมีมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งในครั้งก่อน
"ตอนนี้ยังไม่ชัด ต้องขึ้นกับจำนวน ส.ส.(ที่คาดว่าจะเหลืออยู่ในฝ่ายรัฐบาล) แต่มีโอกาสเป็นไปได้ โอกาสของคุณอภิสิทธิ์ สูงขึ้นกว่าเดิม แต่ยังไม่ถึง 50% ต้องรอดูผลยุบพรรคก่อน" นายสมชาย ระบุ
ด้าน นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ หนีคดีไปอยู่ที่อังกฤษอาจส่งผลให้พรรค พปช.แตกได้ สาเหตุสำคัญมาจากความขัดแย้งภายในพรรค โดยเฉพาะปัญหาการจัดสรรตำแหน่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ไม่ลงตัวจากการปรับ ครม.ครั้งล่าสุด รวมถึงความขัดแย้งเชิงความคิดและผลประโยชน์ภายในพรรค
แต่เชื่อว่าพรรค พปช.คงต้องประคับประคองสถานการณ์ไปก่อนเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไป ถึงแม้บางกลุ่มภายในพรรคจะเริ่มมองไปที่การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่"เพื่อไทย"เพื่อรองรับการเลือกตั้ง หรืออุบัติเหตุทางการเมืองในคดียุบพรรคก็ตาม
"เมื่อคุณทักษิณไม่อยู่ แนวโน้มพรรคแตกสูงมาก แต่ความจริงที่ปรากฏขึ้นจะเห็นได้ว่ายังมีความขัดแย้งกันอยู่ แนวทางที่ทำได้คือการประคับประคอง ปรองดองให้ผ่านพ้นวิกฤตไปก่อน ถึงแม้จะมี ส.ส.บางส่วนมีแนวความคิดไปตั้งพรรคใหม่ในขณะนี้ก็ตาม" นายปณิธาน กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
นายปณิธาณ ยังเห็นว่า พรรค พปช.ในขณะนี้ไม่มีความเป็นเอกภาพและมีภาพความขัดแย้งของ ส.ส.ภายในพรรค รวมทั้งไม่สามารถทำงานได้ตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ตอนที่หาเลียงช่วงเลือกตั้ง และประกอบกับการที่ไม่มีผู้ใหญ่ในพรรคที่มีบารมีเพียงพอที่จะสามารถกำหนดทิศทางภายในพรรคได้ ส่งผลให้ภาพรวมในการทำงานของพรรคไม่ได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีประเด็นความขัดแย้งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารที่ผิดพลาดในระดับนโยบายของรัฐบาลเอง หรือมีปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งประเด็นประสาทพระวิหารที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าขัดต่อมาตรา 190 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 50 ที่ขณะนี้พรรค พปช.พยายามผลักดันเร่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาลเองนั้น นายปณิธาน มองว่า หากรัฐบาลแก้ปัญหาการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยการใช้กำลังสลายการชุมนุมเมื่อใดจะส่งผลนำไปสู่การทบทวนสัตยาบันของพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยให้กับพรรค พปช.ก่อนที่เข้าร่วมรัฐบาล จนนำไปสู่การถอนตัวในที่สุด รวมทั้งเรื่องแบ่งโควตาจัดสรรเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งในระดับกรรมาธิการที่อยู่ในขั้นของการแปรญัตติงบประมาณถ้าจัดสรรกันไม่ลงตัว รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาล
แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้อายุของรัฐบาลสั้นลงจะมาจากคดีความต่างๆ โดยเฉพาะคดีความของนายกรัฐมนตรีที่กำลังเข้าสู่กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรอการตัดสิน เช่น การจัดรายการชิมไปบ่นไปและรายการยกขโยงหกโมงเช้า ซึ่งหากศาลตัดสินว่าเป็นการกระทำขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญในมาตรา 267 จะส่งผลให้สถานภาพของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัครสิ้นสุดลงทันที รวมถึงการพิจารณาคดียุบพรรคที่งวดเข้ามาทุกที
"จากปัจจัยต่างๆ ทั้งหมด เชื่อว่าทางออกสุดท้ายที่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจคือ การประกาศยุบสภา เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ และหากเลือกตั้งใหม่ นายสมัคร คงมีโอกาสน้อยมากที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ยิ่งถ้าหากถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง"นายปณิธาน กล่าว
นายปณิธาน ยังเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะยังไม่วางมือทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะถือว่าเป็นผู้สร้างบารมีทางการเมืองไว้ สิ่งที่จะดำเนินการคือการปกป้องตัวเอง ครอบครัวและทรัพย์สิน โดยใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปดำเนินการ ส่วนโอกาสที่อดีตนายกรัฐมนตรีจะเดินทางกลับมาคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก นอกเสียจากว่าจะรอให้มีการนิรโทษกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ