นักวิชาการเชื่อรัฐบาลไม่รีบยุบสภาแต่อาจอยู่ไม่ยืด มอง 3 ส.นั่งนายกฯ ไม่ลดขัดแย้ง

ข่าวการเมือง Friday September 12, 2008 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่าเมื่อได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วรัฐบาลภายใต้แกนนำของพรรคพลังประชาชน(พปช.)จะยังไม่ตัดสินใจประกาศยุบสภาในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะต้องการอาศัยช่วงการเป็นรัฐบาลเข้าไปควบคุมกลไกของรัฐ ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งบังคับใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 52
"ไม่แน่ใจว่าจะแค่ 3-4 เดือน หรืออาจจะกุมไปปีกว่าก็ได้ ที่เขาไม่ยอมปล่อยเพราะเขายังกุมอำนาจรัฐไว้ได้ไม่ทั้งหมดตอนนี้...คือการซื้อเวลาเพื่อคุมกลไกของรัฐให้ครบ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยอาศัยเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะหยุดยั้งต่อสิ่งที่จะมากระทบกับเขา(รัฐบาล)ได้ และการผ่านร่างงบประมาณ(ปี 52) ซึ่งเขาจะซื้อเวลาจนกว่าเขาจะแน่ใจว่าคุมหรือผูกขาดอำนาจรัฐได้ ในการผูกขาดนี้ทำให้เขาพร้อมที่จะชนกับฝ่ายตรงข้ามได้"นายสมชาย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
นายสมชาย กล่าวว่า การที่พรรคพลังประชาชนยังเสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวช ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก เป็นเพราะพรรคพลังประชาชนมองว่าเกมนี้จะแพ้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่การเมือง แต่เป็นเรื่องความอยู่รอดของพรรคและผู้นำพรรค ซึ่งแม้หลายคนอาจมีความรู้สึกขัดต่อจริยธรรมก็ตาม
"โดยทั่วไปแล้ว ถ้าต้องการความสมานฉันท์หรือลดความขัดแย้งลงคงต้องเป็นคนอื่น แต่นี่เขามองเรื่องผลประโยชน์และความอยู่รอดของพรรคกับผู้นำเป็นประเด็นสำคัญ เพราะถ้ามองในแง่ของส่วนรวมคงเลือกจะที่จะลาออกไปนานแล้ว เพราะมีคนไม่พอใจมากมายขนาดนี้" นายสมชาย กล่าว
พร้อมวิเคราะห์ถึงผู้ที่พรรคพลังประชาชนจะเสนอชื่อขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายสมัคร ว่าควรต้องมีความเป็นผู้นำ เป็นนักสู้ และกล้าชนแต่เป็นการชนอย่างสุภาพ ซึ่งผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ส่วนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้ แม้จะมีฐานเสียงทางการเมือง แต่ไม่มีภาพของความเป็นนักสู้ อีกทั้งยังติดเงื่อนไขความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร เลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) มองทางออกของพรรคพลังประชาชนต่อการเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ว่า คงยากที่จะเสนอชื่อนายสมัคร กลับมาอีกครั้ง โดยทางออกที่น่าจะเป็นไปได้คือการเสนอให้นายสมชาย เข้ามาทำหน้าที่แทน และน่าจะได้การยอมรับจากพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า เพราะเชื่อว่าเป็นที่ยอมรับของสังคมและมีประสบการณ์จากการเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรมมาแล้ว ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ ยังอ่อนอาวุโสเกินไป
"ในฝั่งการมองของประชาชน คนที่เหมาะสมหากเป็น นพ.สุรพงษ์ ก็อ่อนอาวุโสเกินไป แต่คุณสมชาย เป็นทั้งรองนายกฯ และเคยเป็นถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม ดังนั้นในเชิงความรู้ความสามารถ น่าจะสร้างการยอมรับได้ และเชื่อว่าจะได้รับการยอมรับจากพรรคร่วมรัฐบาล"นายสมชัย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
แต่นายสมชัย มองว่า หากนายสมชายขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำรัฐบาลต่อไปก็จะลดกระแสความขัดแย้งลงได้เพียง 10% เท่านั้น แต่หากให้นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี กระแสความขัดแย้งจะลดลงได้ถึง 30-40% เพราะกลุ่มพันธมิตรฯคงยากจะหยิบยกเหตุผลมาอ้างความไม่ชอบธรรมของนายบรรหาร เนื่องจากนายบรรหารเคยทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว อีกทั้งยังมีความอาวุโส และมีลักษณะของการประนีประนอมสูง
"ถ้าคุณสมัครมาการชุมนุมคัดค้านจะเพิ่มเป็น 4 เท่าหรือ 400% ถ้าคุณสมชาย คุณสมพงษ์ หรือหมอเลี้ยบมา กระแส(ความขัดแย้ง)จะตกไป 10% พันธมิตรยังมีเหตุผลในการชุมนุมคัดค้านได้ต่อ และกระแสจะกลับมาเป็น 100% ตามเดิม แต่หากเอาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ มาเป็นนายก เช่น คุณบรรหาร เชื่อว่ากระแสจะตกลงไป 30-40% พันธมิตรจะยากที่จะยกเหตุผลต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมต่อ เพราะจะต้องมีเหตุผลที่มากพอในการเชื่อมโยงว่าคุณบรรหาร ไม่ดีอย่างไร เพราะถ้าเหตุผลไม่ดีพอ กระแสการคัดค้านจะตกลง และพันธมิตรต้องประเมินใหม่ว่าจะชุมนุมต่อหรือยกเลิกชุมนุมด้วยการประกาศชัยชนะชั่วคราว"นายสมชัย ระบุ
พร้อมมองว่า รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชนจะมีอายุไม่นานนัก เพราะคงไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการผ่านร่างงบประมาณปี 52 หรือการวางขุมกำลังต่างๆ เพราะสิ่งนี้ได้เริ่มทำมานานแล้ว อีกทั้งคงไม่กล้าจะแตะต้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นของร้อนและจะยิ่งทำให้ถูกมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง ซึ่งจะยิ่งเป็นการเพิ่มกระแสการคัดค้านมากขึ้น
ขณะที่ทางลงของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น เชื่อว่าจะยุติการชุมนุมได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภาและมีรัฐบาลรักษาการที่ไม่ได้มาจากรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน แต่ต้องเป็นรัฐบาลที่มีความเป็นกลางโดยมาจากการให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีแทน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ หมดเหตุผลที่จะชุมนุมต่อไปได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ