(เพิ่มเติม) ปธ.สั่งปิดประชุมรัฐสภาหลังรัฐบาลรวบรัดแถลงนโยบายเสร็จสิ้นใน 2 ชั่วโมง

ข่าวการเมือง Tuesday October 7, 2008 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา สั่งปิดการประชุมร่วมสองสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายรัฐบาลแล้ว หลังจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายทั้งหมด และมีส.ส.และส.ว.อภิปรายเพียงเล็กน้อย ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงปิดล้อมทางเข้า-ออกรัฐสภาโดยรอบ
ทั้งนี้ นายสมชาย กล่าวแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลมีเจตนารมย์และยุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างความสาม้คคีปรองดองนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง
ประเทศไทยมีพื้นฐานศก.ที่แข็งแกร่ง มีภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีความสามารถการแข่งขันทัดเทียมนานาประเทศ เศษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 51 ขยายตัว 5.7% โดยมีแรงหนุนจากภาคการส่งออก ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น และยอดการท่องเที่ยว แม้ว่าในช่วง 8 เดือนแรกจะมีภาวะเงินเฟ้อ และกระทบต่อค่าครองชีพและผู้มีรายได้น้อย ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐที่กระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทย โดยช่วงแรกกระทบต่อตลาดทุน มีเงินไหลออก เพิ่มความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยน และจะกระทบต่อภาคการส่งออกในระยะต่อไป จากการชะลอตัวของศก.สหรัฐและภูมิภาคอื่น เช่น จีน ญี่ปุ่น
ทั้งนี้ รัฐบาล ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมคิดแก้ปัญหา โดยคำนึงว่าประเทศเป็นของคนไทยทุกคน เพื่อร่วมพัฒนาประเทศให้กลับมาสงบสุข สร้างความเชื่อมั่นทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยยึดทางสายกลาง พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อลดความเห็นที่แตกต่าง และสร้างความเห็นร่วมกัน สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมให้ทำงานอย่างอิสระ เป็นกลไกตัดสินข้อขัดแย้ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย รัฐบาลมุ่งหวังให้ยุติความขัดแย้งโดยสันติ โดยคงไว้ซึ่งคุณธรรมและวัฒนธรรม
รัฐบาลจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศว่าไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีความมั่นคง มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยึดมั่นในหลักนิติธรรม สร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี โดยการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
ส่วนภารกิจของรัฐบาลด้านอื่นๆ ในการบริหารประเทศที่วางรากฐานการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน ส่งเสริมภาคการผลิต การบริหารที่มีมูลค่าสูงขึ้น สร้างความสมดุล เสถียรภาพ ภูมิคุ้มกันให้ศก.ของประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทุกด้าน ทั้งการพัฒนาคน นำความรู้ ส่งเสริมการออมระยะยาว ส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาชุมชนพึ่งตนเอง และเชื่อมโยงตลาด
นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงาน การดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน การเพิ่มความสามารถการใช้ประโยชน์และต่อยอดเทคโนโลยีให้เข้ากับภูมิปัญญาไทย เพื่อนำไปสู่นวัตกรรม สร้างรายได้แก่ระบบเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นแนวทางหลักใจการดำเนินงานตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
รัฐบาลจะบริหารราชการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แยกการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ที่จะเริ่มดำเนินการปีแรก และระยะบริหารราชการ 3 ปี
นโยบายเร่งด่วนจะสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ฟื้นฟูประชาธิปไตย เสริมสร้างความเข้าใจของคนในชาติ สร้างจิตสำนึกพลเมือง ที่คำนึงถึงเหตุผลเพื่อคนส่วนใหญ่ แสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์ สันติ ยึดหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม แก้ปัญหาความไม่สงบใน จ.ชายแดนภาคใต้ น้อมนำแนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาดำเนินภารกิจรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พัฒนาปรับปรุงระบบธรรมาภิบาล พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ จัดบริการสาธารณะขึ้นพื้นฐานให้ทั่วถึง
ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างประเทศในภูมิภาค เร่งปัญหากระทบกระทั่งตามแนวชายแดน ผ่านกระบวนการทางการทูต สร้างกลไกพัฒนาพื้นที่ชายแดน บนหลักการใช้ประโยชน์ร่วมกันและอยู่อย่างสันติ
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤติการเงินโลกที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดูแลสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงิน และตลาดทุน สนับสนุนนโยบายการเงิน และการคลังที่สอดคล้องกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินและตลาดทุน ให้มีภูมิคุ้มกันต่อสภาวะการเงินโลก
เร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนในและตปท. โดยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนทั้งในและตปท. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของไทย เสริมสร้างความมั่นใจอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศและคงความเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของโลก
เร่งรัดโครงการลงทุนของประเทศทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ที่มีความพร้อม เช่นการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟรางคู่ การพัฒนาบริการรถโดยสารสาธารณะ การพัฒนาพลังงานทดแทน การพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอื่นๆ การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและการชลประทาน การลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา การลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างระบบสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยคำนึงถึงวินัยการคลังของประเทศ ดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และผู้ประกอบการ เนื่องจากภัยธรรมชาติ ภาวะเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันโดยให้ความช่วยเหลือทั้งเงินทุนและสร้างอาชีพ ดูแลระดับสินค้าอุปโภคบริโภค ดูแลราคาพลังงานให้เหมาะสม เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค และผู้ผลิต ดูแลเสถียรภาพราคาพลังงานไม่ให้ผันผวน ส่งเสริมการประหยัดพลังาน
การจัดตั้งสภาเกษตรกร และสร้างระบบประกันความเสี่ยงให้เกษตรกร เพื่อให้สภาฯ เป็นกลไกแทนเกษตรกรที่สื่อสารถึงรัฐบาล การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีระบบประกันความเสี่ยงจากความเสียหายของภัยธรรมชาติ ดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพภายใต้ความผันผวนของตลาดโลก สร้างผลตอบแทนที่เป็นธรรมของเกษตรกร
สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร มีโครงการกองทุนหมู่บ้านฯ ให้บริการจัดการที่ดี จัดสรรงบประมาณให้ถึงทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน
สนับสนุนสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย และวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม โดยสานต่อ โครงการธนาคารประชาชน สร้างทางเลือก ลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ สร้างผู้ประกอบการใหม่ และสนับสนุนสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพผ่านโครงการ โอท็อป เชื่อมโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาด และให้เอกชนมีส่วนร่วมในผลิตภัณฑ์ชุมชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ