ส.ว.จอมแฉร้อง ป.ป.ช.ตรวจสอบ"ชวรัตน์"ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯเท็จ-ซุกหุ้น

ข่าวการเมือง Friday November 7, 2008 09:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลสมชาย 1 ว่ายื่นบัญชีแสดงรายการพร้อมเอกสารประกอบอย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และมีกรณีที่เข้าลักษณะปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 หรือไม่ หลังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่มาที่ไป

"จากการตรวจสอบพบว่าทรัพย์สินของนายชวรัตน์ได้ลดลงในรอบ 4 เดือนเป็นจำนวน 166 ล้านบาท โดยไม่สามารถหาที่มาที่ไปได้" นายเรืองไกร กล่าว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินรวมของคู่สมรสต่อ ป.ป.ช.ช่วงที่นายชวรัตน์ เข้ารับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 ก.พ.51 มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 274 ล้านบาท แต่การยื่นบัญชีฯ ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.51 มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเหลือแค่ 108 ล้านบาท และล่าสุดนายชวรัตน์ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมฯ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.51 มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 107 ล้านบาท

"การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ทั้ง 3 ครั้ง เห็นได้ว่ามีการแสดงทรัพย์สินสุทธิจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 จนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2551 ได้ลดลงถึง 166 ล้านบาท ทั้งที่ช่วงระยะเวลาห่างกันประมาณ 4 เดือนเศษ ทำให้สงสัยว่าเงิน 166 ล้านบาทหายไปไหน" นายเรืองไกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการยื่นทรัพย์สินหลังจากพ้นตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 23 พ.ค.51 พบว่านายชวรัตน์ได้ยื่นสัญญาจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี ซึ่งในสัญญาดังกล่าวแยกเป็นทรัพย์สิน 2 กอง โดยกองทุน ก.มีมูลค่า 99 ล้านบาท และกองทุน ข.มีมูลค่า 18 ล้าน รวมเป็นเงิน 117 ล้านบาท แต่ไม่มีการแสดงไว้ ทั้งที่ทรัพย์สินส่วนนั้นยังเป็นของตัวเองอยู่ ไม่ใช่การขายขาดออกไป เพียงแต่เป็นการฝากให้ดูแลเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติจากการตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินรวมของนายชวรัตน์ที่ยื่นตอนเข้ารับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 ก.พ.51 ไม่พบว่ามีการแจ้งเงินลงทุนในส่วนที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ จำนวน 2.9 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 7.70 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 22 ล้านบาท อยากถามว่าตรงส่วนนี้มาจากไหน

และในการยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งนั้นนายชวรัตน์ได้แจ้งในหมวดลงทุนว่ามีหุ้นของบริษัท ซิโน-ไทย ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด รวมจำนวน 337,497 หุ้น แสดงว่ามีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 33.7 ล้านบาท แต่ได้มาแสดงไว้ในสัญญาจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรีที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค.51 ไว้ในจำนวนหุ้นที่เท่ากัน โดยแสดงราคาหุ้นละ 0.01 บาท หรือเหลือหุ้นละ 1 สตางค์ เหลือมูลค่ารวมแค่ 3,374 บาท ลดลงกว่าจำนวน 33.7 ล้านบาท

อีกทั้งการแจ้งในครั้งเดียวกันได้มีการแจ้งหมวดเงินลงทุนในบริษัท ไทยเอกรัฐ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 375,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 37.5 ล้านบาท แต่ได้มาแสดงไว้ในสัญญาสัญญาจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรีที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค.51 ไว้ในจำนวนหุ้นที่เท่ากัน โดยแสดงราคาหุ้นละ 0.01 บาท เป็นมูลค่ารวม 3,750 บาท ต่ำกว่าเดิมเป็นเงิน 37.4 ล้านบาท โดยนายชวรัตน์ไม่ได้นำมูลค่าของกองทุนมารวมแสดงไว้ในแบบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินในคราวต่อมา ซึ่งทำให้ทรัพย์สินที่ควรแจ้งมีมูลค่าต่ำไปกว่าความเป็นจริง

"การแสดงทรัพย์สินครั้งนี้มีพิรุธจำนวนมาก โดยเฉพาะมูลค่าหุ้นที่ลดลงจากหุ้นละ 100 บาทเหลือหุ้นละ 1 สตางค์ ทำไมมันต่างกันมากแบบนี้มีการแสดงทรัพย์ที่สูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง และมีการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบหรือไม่" นายเรืองไกร กล่าว

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่าโมเดลการตรวจสอบอำนาจรัฐที่ตนเองเสนอไว้ก่อนหน้าได้ทำงานแล้ว โดยสามารถใช้ตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินของนักการเมืองได้ ซึ่งนักการเมืองต้องชี้แจงให้ได้ว่าสิ่งที่มีอยู่มีที่มาและที่ไปอย่างไร ตนเองได้เสนอไปก่อนหน้านั้นว่าหากมีการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมแล้วยังไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินตัวเองได้ก็ต้องถูกยึดทรัพย์ให้เป็นของแผ่นดิน

"ผมจะทำซอฟแวร์การตรวจสอบทรัพย์ของนักการเมืองออกมาเพื่อให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นวิธีการง่ายๆ โดยกรอกตัวเลขให้ตรงกับช่องรายการต่างๆ ที่ตั้งไว้เท่านั้น จากนั้นซอฟแวร์ตัวนี้จะคำนวณเองว่านักการเมืองคนดังกล่าวมีทรัพย์สินและหนี้สิน เพิ่มขึ้น ลดลง หรือหายไป จำนวนเท่าใด มีที่มาที่ไปหรือไม่ โดยประชาชนจะได้เห็นโมเดลตัวนี้แน่นอน"

"อยากให้พรรคร่วมรัฐบาลนำไปบรรจุในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เชื่อว่าจะสามารถทำให้การเมืองไทยดีขึ้นได้ เพราะการรายการบัญชีทรัพย์สินจากนี้ไปต้องไม่ใช่สักแต่รายงานต่อ ป.ป.ช.ให้เสร็จๆ ไปเท่านั้น แต่บัญชีที่รายงานต้องกระทบกลับไปมาเพื่อหาที่มาที่ไปให้ได้ ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องถูกยึดทรัพย์" นายเรืองไกร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ