"พ.อ.อภิวันท์"ชี้รัฐบาลรักษาการทำงานได้ตามปกติ-"ชวรัตน์"มีอำนาจยุบสภา

ข่าวการเมือง Wednesday December 3, 2008 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ระบุรัฐบาลรักษาการที่มีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เหมือนกับมีรัฐบาลตามปกติ และมีอำนาจในการประกาศยุบสภาได้ แต่ในรัฐธรรมนูญมีข้อห้ามเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการใหม่ที่ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก การกำหนดนโยบายหลักที่สำคัญ และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง

"ยังสามารถดำเนินการแทนรัฐบาลตามปกติได้ ยกเว้นการตัดสินใจอนุมัติโครงการหรือการโยกย้ายข้าราชการก็ไม่เหมาะสมนักที่จะปฏิบัติ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นข้อห้ามด้วย...มีอำนาจในการยุบสภาได้" พ.อ.อภิวันท์ กล่าวทางรายการวิทยุเช้านี้

ส่วนกรณีที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขออนุมัติงบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวตกค้างเนื่องจากปิดสนามบินแต่ยังไม่ผ่านการพิจารณานั้น พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลรักษาการน่าจะพิจารณาได้ เพราะเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วนที่มีความจำเป็นต้องรีบแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถปล่อยทิ้งไว้เพื่อรอให้รัฐบาลใหม่มาดำเนินการ แต่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจและเห็นถึงความโปร่งใส

วานนี้(2 ธ.ค.) นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รักษาการ รมว.คลัง ระบุว่าวันนี้จะมีการประชุม ครม.นัดพิเศษ โดยจะมีการพิจารณาอนุมัติปรับโครงสร้างภาษี ได้แก่ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเบียร์และน้ำมัน รวมทั้งการอนุมัติโครงการจำหน่ายสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวด้วยเครื่องอัตโนมัติ หรือหวยออนไลน์

พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า การที่ ครม.นัดพิเศษจะอนุมัติเรื่องใดขึ้นอยู่กับดุลพินิจและความกล้าในการตัดสินใจ เพราะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นอย่างไร นอกจากนี้ หากรัฐบาลรักษาการเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่ดีขึ้นก็มีอำนาจที่จะตัดสินใจยุบสภาได้ เพื่อเป็นทางออกให้กับบ้านเมือง

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดการเลือกตั้งซ่อมให้เสร็จเรียบร้อย เพราะจะทำให้ประเทศว่างเว้นฝ่ายบริหารเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป ซึ่งเท่าที่ทราบพรรคร่วมรัฐบาลจะเข้าชื่อยื่นขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในวันที่ 8-9 ธ.ค.นี้ เพื่อโหวตหานายกรัฐมนตรีคนใหม่

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเตรียมเสนอให้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณากรอบการเจรจาอาเซียนซัมมิทในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นอาจเป็นการพิจารณาโหวตหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ในช่วงเช้า และพิจารณาเรื่องกรอบการเจรจาฯ ในช่วงบ่าย

"อันนี้แน่นอนครับ เพราะได้ร่วมเซ็นชื่อในจำนวนที่น่าจะพอเพียง" พ.อ.อภิวันท์ กล่าวถึงความชัดเจนในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ ในวันที่ 8-9 ธ.ค.นี้

ปัจจุบันมีจำนวน ส.ส.ประมาณ 447 คน จากจำนวนทั้งหมด 480 คน

ส่วนการสลับขั้วทางการเมืองนั้น พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ถึงแม้ 5 พรรคร่วมรัฐบาลจะไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แต่จะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่งเพียง 4 เสียงเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพ เพราะหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ บรรดา ส.ส.ที่ไปเป็น ครม.ไม่สามารถมาร่วมโหวตได้

อย่างไรก็ตาม การเลือกบุคคลที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่มีข้อจำกัดในกระบวนการสรรหาตามครรลองประชาธิปไตย และต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อจะต้องมีความเหมาะสม เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การสร้างความสมานฉันท์ในชาติ

"ใครก็ตามที่เข้ามารับภาระหน้าที่(นายกรัฐมนตรีคนใหม่)ตอนนี้ ต้องถือว่าเป็นทุกขลาภ" พ.อ.อภิวันท์ กล่าว แต่ปฏิเสธข่าวได้รับการวางตัวเป็นผู้ที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ "อันนี้คงตอบไม่ได้ คงต้องอยู่ที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นสมควรหรือไม่ อย่างไร"

หนังสือพิมพ์เช้านี้ รายงานว่า มีผู้ที่ได้รับการวางตัวเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรร์, นายสันติ พร้อมพัฒน์, นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์, นายชัย ชิดชอบ และ พ.อ.อภิวันท์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ