เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.'52: เปรียบมวย 4 ตัวเต็งจากพรรคใหญ่-อิสระไร้สังกัด

ข่าวการเมือง Friday January 9, 2009 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กางนโยบาย 4 ตัวเต็งสนามเลือกตั้งผู้ว่า กทม.มุ่งหัวใจหลักแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาจราจร การศึกษา และคุณภาพชีวิต แต่ลูกเล่นที่ผู้สมัครแต่ละคนใช้ในการหาเสียงมีดีเทลเท่านั้นที่แตกต่างกัน ตัวแทนพรรค ปชป.อย่าง"สุขุมพันธุ์"เน้นทีมงานมืออาชีพที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ด้านคู่แข่งสำคัญอย่าง"แซม ยุรนันท์"จาก พท.อ้อนขอโอกาสคิดทำใหม่ทำใหม่บริหารกทม.หลังพรรคพ่ายศึกการเมืองระดับชาติ

ส่วนม้าศึกไร้สังกัด แรงต้นแผ่วปลายอย่าง"หม่อมปลื้ม"ขวัญใจเด็กฮิป สะพายกระเป๋าเดินสายโชว์วิสัยทัศน์กล้าคิดกล้าพูดเป็นจุดเด่น ขณะที่"แก้วสรร"อาศัยจุดแข็งภาพลักษณ์ผู้ตรวจสอบที่หนักแน่นดุดันแบบ คตส.ชูนโยบายทางเลือกใหม่แนวนักวิชาการ หวังกินใจชาว กทม.

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 11 ม.ค.นี้ มีดีกรีการแข่งขันที่ดุเด็ดเผ็ดมันไม่เป็นรองการเมืองระดับชาติ เพราะการเป็นผู้บริหารเมืองหลวงศูนย์กลางในทุกๆ เรื่องย่อมมีความสำคัญเทียบชั้นเจ้ากระทรวง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคการเมืองใหญ่ รวมไปถึงนักการเมืองอิสระ ผู้สมัครหน้าใหม่ ทั้งไม้ยืนต้นและไม้ประดับถึง 14 คนลงสู่สนาม หลังจากนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ต้องพ้นเก้าอี้จากพิษคดีทุจริตจัดซื้อเรือและรถดับเพลิง

*"สุขุมพันธุ์"คุณชายติดดินเบอร์ 2

พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ซึ่งเป็นเจ้าของเก้าอี้เดิมตัดสินใจส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สวมเสื้อเบอร์ 2 ลงสนามรักษาเก้าอี้อีกสมัย หลังจากเฟ้นหาตัวบุคคลนานพอควร ชูนโยบาย 6 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งการค้าและการท่องเที่ยวของภูมิภาคอย่างแท้จริง ขยายความสัมพันธ์กับมหานครทั่วโลก เพิ่มรายได้การท่องเที่ยวเป็น 4 แสนล้านบาท สร้างตลาดนัดอาชีพ เพิ่มพื้นที่ตลาดสินค้า home made และ hand made พัฒนาย่านการค้าและย่านธุรกิจ

ด้านความปลอดภัย ปฏิรูปกรุงเทพฯให้เป็นมหานครที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง ติดตั้งไฟฟ้าสว่างเพิ่ม 40,000 จุด ติดตั้งกล้องวงจรปิด 10,000 ตัว พร้อมศูนย์ควบคุมทันสมัยตลอด 24 ชม.ตั้งเครือข่ายดูแลความปลอดภัยด้วยวินมอเตอร์ไซค์ และ รปภ.เอกชนกว่า 150,000 คน เชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนทั้งทางน้ำและทางบกให้ทั่วถึง

ด้านสิ่งแวดล้อม จัดระเบียบกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่สะอาด ปราศจากขยะ มลพิษ และสิ่งก่อกวนด้วยนโยบายสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้น มีถังขยะพอเพียงในทุกพื้นที่ จัดธนาคาร Recycle แปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ลดมลพิษด้วยระบบการเดินทางขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงทั่วถึงทุกพื้นที่ทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน ระบบระบายน้ำที่ให้ใช้การได้ทั่วถึง ฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านการศึกษา เสริมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง ด้วยนโยบายการศึกษาที่ทำได้จริง ด้วยคุณภาพมาตรฐาน พร้อมพัฒนาองค์ความรู้อย่างครอบคลุมทั้งในและนอกห้องเรียน เด็กกรุงเทพฯ เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพต่อไป เสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษใน ร.ร.345 แห่งทั่วกรุงเทพฯ จัดตั้งหอศิลป์ บ้านหนังสือ ห้องสมุด และโรงเรียนดนตรี เล่นเน็ตได้ทุกพื้นที่จาก Wi-Fi สู่ WiMAX เพิ่มพื้นที่ให้เยาวชนสนุกอย่างสร้างสรรค์

ด้านสุขภาพ ส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่เข้มแข็ง ด้วยนโยบายสุขภาพที่จะทำให้ทุกคนแข็งแรง จัดตั้งลานกีฬาใกล้บ้านกว่า 1,000 แห่ง รวมทั้งศูนย์กีฬาครบวงจรอีกกว่า 1,200 แห่งทั่วทุกมุมเมือง ให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีฟรีในทุกครัวเรือน พัฒนาศูนย์สาธารณสุข 68 แห่ง และยกระดับมาตรฐานการรักษาใน ร.พ.สังกัด กทม. 9 แห่ง

รวมถึงพัฒนาให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง จัดตั้งหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน แค่โทร.199 โดยรับ-ส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินฟรี จัดตั้งศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์คนเมืองเพื่อศึกษาปัญหาด้านสุขภาพโดยเฉพาะ จัดตั้งกองทุนเบี้ยยังชีพ และเลี้ยงดูผู้สูงอายุด้วยเงินดูแล 500/คน/เดือน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้รับบริการ

ด้านจราจร เพื่ออนาคตการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย สร้างโครงข่ายรถไฟฟ้า BTS ให้ครอบคลุม โดยเปิดบริการข้ามฝั่งธนฯ ภายในปี 2552 และเปิดให้บริการสายอ่อนนุช-แบริ่งภายในปี 2553 เชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำ ทางจักรยาน ตลอดจน shuttle bus เร่งรัดและเปิดเส้นทาง BRT ฟุตบาทเรียบ ถนนสวย สร้างอาสาสมัครจราจรอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

นอกเหนือจากนโยบายแล้ว ปชป.ยังเปิดตัวทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เป็นจำนวนมากถึง 42 คน

*"ยุรนันท์"หล่อเข้มเบอร์ 10

ขณะที่พรรคเพื่อไทย(พท.) คู่แข่งสำคัญส่ง"แซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี"อดีตนักร้องและพระเอกชื่อดังสวมเสื้อเบอร์ 10 ลงชิงเก้าอี้ หลังผู้สมัครคนเดิม "ประภัสร์ จงสงวน" ที่เคยแพ้การเลือกตั้งครั้งก่อนขอถอยกลับไปทำงานที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ตามเดิม

โดยครั้งนี้กำหนดนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงไว้ 10 ข้อ และระบุว่าไม่ใช่นโยบายขายฝัน แต่เป็นความต้องการของคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง ซึ่งได้จัดเตรียมผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาช่วยดูแลงานในแต่ละด้านไว้แล้ว

นโยบายแรกจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งรายได้ สร้างงาน สร้างรายได้ ฟื้นวิกฤติ เศรษฐกิจเมือง โดยสร้างตลาดน้ำลอยฟ้า(Sky Mall) และตลาดนัดจตุจักร 2 ชั้น เพื่อเพิ่มพื้นที่การค้าขายสำหรับผู้มีรายได้น้อย, ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วยเศรษฐกิจพอเพียง, แปลงขยะให้เป็นเงิน, เพิ่มงาน เพิ่มรายได้ ส่งเสริม OTOP สี่มุมเมือง พร้อมร้านจัดจำหน่าย, กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งสินเชื่อเพื่อชีวิตใหม่ และสร้างชุมชนแรงงานเมืองรองรับคนตกงาน เช่น แม่บ้าน คนสวน พี่เลี้ยงเด็ก และ คนชรา

เมืองแห่งคุณภาพชีวิต สร้างความสุขให้คนกรุงเทพฯ โดยเริ่มที่ครอบครัว ให้วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว เพิ่มพื้นที่ให้กับครอบครัวตามห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด, เพิ่มพื้นที่สีเขียวและขยายสวนสาธารณะขนาดใหญ่, สร้างสวนสุขภาพใกล้บ้าน(Mini สวนลุมฯ) 1,000 แห่ง, ส่งเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกายบริโภคอาหารปลอดภัยเพื่อชุมชนที่แข็งแรง และส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้สูงอายุพร้อมทุนประกอบอาชีพเพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการ, ให้ความสำคัญกับเด็ก สตรี คนชรา และผู้พิการที่ด้อยโอกาส

เมืองแห่งการเชื่อมต่อ จราจรลื่นไหล ทันสมัยด้วยระบบขนส่งมวลชนครบวงจร โดยผลักดันระบบขนส่งมวลชนให้เป็นไปตามแผนซึ่งวางไว้(ตั๋วใบเดียวทุกระบบ), เชื่อมต่อรถไฟฟ้าให้เป็นระบบเดียวกันระหว่างกรุงเทพฯ และธนบุรี เพื่อให้รถไฟฟ้า BTS ใช้งานได้ภายใน 6 เดือน ด้วยค่าโดยสารที่ถูกลง, สร้างระบบ Feeder รับส่งผู้โดยสารจากหน้าประตูบ้านถึงประตูรถไฟฟ้า, เชื่อมต่อทางเดินด้วย Sky Garden(ทางเดินและสวนลอยฟ้า) โดยเน้นพื้นที่ธุรกิจหลัก, สร้างลานจอดรถสาธารณะสำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น, สร้างระบบรถไฟรางเดี่ยวเชื่อมการเดินทางจากพื้นที่ต่างๆ กับระบบรถไฟฟ้า, เชื่อมต่อโครงข่ายเรือในคลอง และเชื่อมต่อรถเดินทางสะดวก

เมืองปลอดอบายมุขและสิ่งเสพติด เพื่ออนาคตของชาติ โดยจัดระเบียบสังคมด้วยการควบคุมพื้นที่ เพื่อลดแหล่งอบายมุขและสิ่งเสพติดรอบสถานศึกษา, สนับสนุนการปราบปรามยาเสพติดควบคู่กับการให้โอกาสผู้ป่วยที่ติดยา, สนับสนุนให้เกิดธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ธุรกิจแห่งการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์, สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาและอุปกรณ์กีฬาให้กับชุมชนเพื่อหลีกเลี่ยงจากอบายมุขและสิ่งเสพติด

เมืองแห่งความทันสมัย เทคโนโลยีก้าวทันอนาคต โดยจัดให้มีระบบไอที Wi-Fi อินเตอร์เน็ตในชุมชนและวัดครอบคลุมทุกพื้นที่, นำระบบ WiMAX มาใช้ใน กทม. และจัดให้มีสถานีโทรทัศน์ของชาวกรุงเทพฯ

เมืองแห่งความปลอดภัย เมืองปลอดภัย ชีวิตอบอุ่นมั่นคง โดยจัดให้มีศูนย์เฝ้าระวังโดยใช้ข้อมูลจาก CCTV, จัดสรรงบประมาณให้กับชุมชนเพื่อสร้างระบบเฝ้าระวังด้วยตนเอง, สร้างระบบป้องกันการก่อการร้ายในเมืองหลวง, สนับสนุนการดำเนินงานของ อปพร. บรรเทาสาธารณภัย ตำรวจบ้าน และจัดตั้งสมาคมเพื่อนบ้านเพื่อให้ชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกัน

เมืองท่องเที่ยว ดนตรี กีฬา ศิลปวัฒนธรรม สนุกสนานและไมตรีจิตภายใต้วัฒนธรรมอันดีงาม โดยเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม, ปรับปรุงศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, เพิ่มแหล่งสันทนาการ ดนตรี กีฬา บนพื้นที่ว่างของสถานที่ราชการหรือใต้ทางด่วน และจัดสร้างศูนย์ดนตรีและกีฬาให้เพียงพอแก่ความต้องการ

เมืองแห่งการศึกษา เมืองการศึกษาภูมิปัญญา โอกาสเท่าเทียม โดยส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนผ่านกิจกรรมและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เน้นให้เยาวชนมีปัญญาความรู้คู่คุณธรรม, พัฒนาโรงเรียนสังกัด กทม.ให้มีคุณภาพเทียบเท่าโรงเรียนของรัฐบาลและเอกชน, เยาวชนต้องเรียนฟรี มีคุณภาพ เท่าเทียม ทันโลก และการเรียนการสอนถึงบ้านผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

เมืองแห่งธรรมาภิบาล สะอาด โปร่งใส ไร้คอรัปชั่น โดยเน้นหลักธรรมาภิบาลในการบริหาร โปร่งใสด้วยการสร้างระบบตรวจสอบการบริหารงานของ กทม.

และเมืองแห่งภาพลักษณ์ใหม่ เมืองดีมีน้ำใจ ทันสมัย อยู่สบาย ปลอดภัย โดยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ กทม.(Rebranding Bangkok) ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของ กทม.ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ และเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น มวยไทย อาหารไทย โขน

*"แก้วสรร"มือปราบทุจริต เบอร์ 12

ส่วนตัวเต็งที่เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมืองที่น่าจับตาดูมีอยู่ 2 คน คือ "หม่อมปลื้ม-ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล"กับ"แก้วสรร อติโพธิ" ซึ่งถึงช่วงโค้งสุดท้ายยังโหมหาเสียงกันอย่างหนัก แม้ว่าโพลล์ทุกสำนักยังเทคะแนนไปที่สองผู้สมัครจากพรรคใหญ่ แต่ก็ถือเป็นตัวเต็งที่สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้เป็นอย่างมาก เข้ามาแย่งพื้นที่ข่าวจากหน้าเดิมอย่าง"ลีน่าจัง" "ธรณี" หรือ"ตู่ติงลี่"

สำหรับ "แก้วสรร อติโพธิ" เป็นอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ตัดสินใจโดดลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ สวมเสื้อเบอร์ 12 ในนามกลุ่มกรุงเทพฯ ใหม่ โดยใช้สโลแกนหาเสียงว่า "ซื่อสัตย์ กัดติด ฟิตงาน บริหารเป็น" แถมยังประกาศว่าไม่มีพรรค ไม่มีสี แม้ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวเสนอตัวลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)

นายแก้วสรร ชูนโยบายปฏิรูปการบริหารงานใหม่ทั้งหมด ภายใต้นโยบายกรุงเทพฯใหม่ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย กรุงเทพฯใหม่...โอกาสใหม่ของประชาชน ซึ่งงาน กทม.ใหม่จะให้น้ำหนักเขตได้ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ มีกระบวนการให้ประชาชนร่วมกันแก้ทุกข์สร้างสุขในระยะใกล้ตัว และนำมากลั่นกรองเป็นงานและงบกลางในเขตต่างๆ ทำให้ประชาชนพบโอกาสใหม่ในการมีส่วนร่วมทำงานกับ กทม.

กรุงเทพฯใหม่...ความสุขใหม่ใกล้ตัว เป็นการจัดระเบียบและพัฒนาคุณภาพชีวิตและสภาพถิ่นฐานบ้านช่องชุมชนให้ดีขึ้น ถนน ทางเท้า ตลาดที่สะอาด มีสวนสาธารณะ ลานกีฬา จัดระเบียบคนเล็กๆ ให้มีโอกาสทำมาหากิน ซึ่งการสร้างพื้นที่ที่สร้างความสุขใกล้ตัวใกล้ชุมชนเช่นนี้ หากสามารถปูพรมได้ทั่วกรุงเทพฯ จะทำให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ จำนวนมากพบความสุข

กรุงเทพฯใหม่...ความสะดวกใหม่ เมืองสะดวกต้องเกิดจากการออกแบบพื้นที่เมืองกับระบบการจราจรขนส่งไปพร้อมกัน รถไฟฟ้าจากสาทรข้ามมาฝั่งธนฯ ต้องเปิดทำการให้ได้ พื้นที่เมืองสองข้างทางจะเปิดรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนทุกชั้นโดยเฉพาะคนชั้นกลางล่างและคนยากจน สถานีปลายทางจะกลายเป็นศูนย์กลางใหม่เกิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่

กรุงเทพฯใหม่...โรงเรียนใหม่-ครูใหม่ ด้วยการพัฒนาระบบโรงเรียนของ กทม. เลิกเกณฑ์ครู กทม.ไปทำงานอื่น มุ่งยกระดับมาตรฐานโรงเรียนให้เทียบเท่าโรงเรียนประถมของสิงคโปร์, พัฒนาสำนึกพลเมืองทั้งสอนและเสริมจนไม่ต้องเรียนพิเศษ แต่ทั้งนี้ระบบราชการคงไม่สามารถพัฒนาการศึกษาได้ ต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้ร่วมกันพัฒนาการศึกษาด้วย

กรุงเทพฯใหม่...โอกาสทำมาหากินใหม่ จากที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลายสมัยซ้อนทับกัน มีการทำมาหากินหลายชนิด เช่น กรุงเทพฯเป็นโลกานคร ดังนั้น กทม.ต้องร่วมกับรัฐบาลและผู้ประกอบการพัฒนาย่านธุรกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการท่องเที่ยวระยะสั้น, กรุงเทพฯเป็นเมืองศูนย์กลาง ต้องพัฒนาการอาชีวะศึกษา ฝึกอบรมแรงงานมีฝีมือ, กรุงเทพฯเป็นเมืองของชาวบ้านคนเล็กคนน้อย กทม.ต้องพัฒนาคุณภาพตลาดสด จัดระเบียบย่านจอแจน้อยใหญ่ ทำเว็บไซต์อาชีพเชื่อมลูกค้าตามบ้านกับผู้ประกอบการอิสระ

*"ณัฏฐกรณ์"หนุ่มเซลฟ์เบอร์ 8

ขณะที่ "คุณปลื้ม-ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล" หนุ่มนักเรียนนอกผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงที่คนคุ้นหน้าทางจอโทรทัศน์ในฐานะผู้ประกาศและวิเคราะห์ข่าว ตัดสินใจส่งตัวเองลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระสวมเสื้อเบอร์ 8 ชูนโยบาย 4 ด้านหลัก ทั้งระบบขนส่ง, ความปลอดภัย, ความสะอาด และการลดค่าครองชีพและพัฒนาสังคม

นโยบายปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อประชาชน จะขยายเส้นทางรถไฟฟ้าไป 4 มุมเมืองของ กทม. พร้อมเดินหน้าโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ(BRT) ให้สำเร็จ, ยกเลิกยูเทิร์นบางจุดที่ก่อให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด, ปรับปรุงเส้นทางรถเมล์ ขสมก.ให้เกิดความสะดวก, ปลุกจิตสำนึกผู้ขับรถเมล์ในเรื่องความปลอดภัย, ติดตั้งป้ายสัญญาณจราจรเพิ่มเติมทั่ว กทม., สั่งรถเมล์ใหม่เพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

นโยบายสร้างความปลอดภัยให้คน กทม. จะกำจัดแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ซิ่ง, แก๊งค์ปาไข่ป่วนเมือง, มาเฟียและแก๊งค์ค้ายาเสพติด, ติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิดในพื้นที่เสี่ยงของ กทม.เพื่อลดการก่ออาชญากรรมยามค่ำคืน, กำจัดตึกร้างโดยผลักดันให้มีการเช่าหรือทุบทิ้งในกรณีที่ทรุดโทรมจนไม่สามารถปรับปรุงได้, ออกกฎควบคุม Internet Cafe โดยให้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษามากกว่าการเล่นเกมส์หรือดูเว็บโป๊

นโยบายด้านการรักษาความสะอาด จะลอกท่อระบายน้ำต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม, ริเริ่มโครงการถนนอ๊อกซิเจนทุกเขต, พัฒนาพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นเวนิสตะวันออก, ปิดซอยคาวบอย นานาพลาซ่า และพัฒน์พงศ์ ที่เป็นสวรรค์แห่งการค้าเซ็กส์เพื่อฟื้นภาพพจน์ กทม.

นโยลดค่าครองชีพและพัฒนาด้านสังคม จะจัดโครงการข้าวแกงราคาพอสมควรสำหรับแรงงานทั่วกรุง, ตั้งกองทุนช่วยเหลือคนเร่ร่อนใน กทม., โครงการนมโรงเรียน, โครงการทุนการศึกษา 1 โรงเรียน 1 มหาวิทยาลัย และการรณรงค์จิตสำนึกต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานของ กทม.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ