ประธานกลุ่ม นปช.รับเป็นคนติดต่อสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอยื่นถวายฎีกาเอง

ข่าวการเมือง Saturday August 15, 2009 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็การแห่งชาติ(นปช.) ยอมรับเป็นคนประสานงานติดต่อสำนักราชเลขาธิการเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 ส.ค.นี้เอง ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีจะโฟนอินเข้ามาขอบคุณประชาชนที่ร่วมลงชื่อในเวลา 10.00 น.

"ผมติดต่อไปที่สำนักราชเลขาธิการเพื่อประสานให้มั่นใจอีกครั้งหนึ่ง แต่ในช่วงที่ผมติดต่อไปนั้น ราชเลขาธิการติดเป็นประธานในที่ประชุมและไม่ได้รับสายของผม หลังจากนั้นอีก 5 นาที รองราชเลขาธิการจึงติดต่อกลับมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ" นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่ม นปช.กล่าว

ประธานกลุ่ม นปช.กล่าวว่า รองราชเลขาธิการได้ชี้แจงว่าเหตุใดราชเลขาธิการไม่ได้รับสาย และได้คุยติดต่อประสานกับรองราชเลขาธิการ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ถ้าตัดตอนเอาเฉพาะตอนที่สำนักราชเลขาธิการติดต่อมาก็ไม่ถูกเรื่อง

"ประชาชนจะไปร้องทุกข์ต่อราชการ เราต้องไปติดต่อเขา ไม่ใช่ให้เขาติดต่อเรา โดยในเบื้องต้นได้ประสานว่าในวันที่ 17 (ส.ค.)นี้จะสามารถนำคน 15 คน เข้าไปที่ศาลาลูกขุน สำนักพระราชวัง โดยจะเป็นฆราวาส 10 คน และพระสงฆ์ 5 รูป" นายวีระ กล่าว

ส่วนกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการ 29 องค์กรออกแถลงการณ์คัดค้านการถวายฎีกานั้น นายวีระ กล่าวว่า มีคำถามว่าเวลานี้ประชาชนมีความเดือดร้อน เขาห้ามร้องทุกข์กันแล้วหรือ ไหนว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิเสรีภาพ ทำไมหัวหน้าส่วนราชการถึงออกมาขัดขวางการร้องทุกข์ ถ้าวันนี้มีความทุกข์จะร้องกับใครไม่ได้แล้วหรือ โดยเฉพาะกับพระประมุข หรือที่ใช้คำศัพท์ว่าถวายฎีกา

นอกจากนี้ยังขอถามว่า ปรัชญาข้าราชการคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขมิใช่หรือ แต่ครั้งนี้ราษฎรมีความทุกข์ แต่ข้าราชการกลับมาขัดขวาง บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร และถามไปถึงรัฐบาลว่า ทำไม มท.1 ยังแสดงบทบาทที่จะสกัดกั้นและขัดขวางการถวายฎีกา มท.1 ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายเลย เพราะเอาอำนาจอะไรไปสั่งให้คนถวายฎีกาไม่ได้

"ดูรายชื่อแต่ละคนแล้วน่าถูกบีบมากกว่า เพราะแต่ละคนรับราชการมาตลอดชีวิต น่าจะเข้าใจในหน้าที่ แต่ผู้นำกระทรวง รวมไปถึงนายกฯ น่าจะเป็นผู้บีบบังคับ ให้มีการออกแถลงการณ์เช่นนี้" นายวีระ กล่าว

ประธานกลุ่ม นปช.กล่าวว่า ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ จะเริ่มตั้งเวทีตั้งแต่เช้า โดย พ.ต.ท.ทักษิณ จะโฟนอินเข้ามาขอบคุณในเวลา 10.00 น. และในเวลา 13.00 น.ตัวแทนก็จะเข้าไปถวายฎีกาในสำนักพระราชวัง ซึ่งขั้นตอนนี้คาดว่าจะใช้เวลา 40 นาที และหลังจากนั้นจะออกมาชี้แจงให้ประชาชนทราบ และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนที่จะเลิกการชุมนุมในเวลา 14.00 น. และยืนยันว่าในวันนั้นจะไม่มีการปะทะใดๆทั้งสิ้น แม้จะมีการยั่วยุ

สำหรับผู้ที่จะนำฎีกาไปยื่นนั้น ประธานกลุ่ม นปช. กล่าวว่า ได้ติดต่อผู้ใหญ่ไว้หลายคนและได้รับการชี้แนะมาว่าอาจไม่เหมาะสมเพราะผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวในกรณีนี้จึงน่าจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนทำงานมากกว่า โดยผู้ใหญ่ที่ติดต่อไปมีทั้งยศ พล.อ. และยศ พล.ต.อ. แต่ไม่มีองคมนตรีเข้าร่วมด้วย

ส่วนกลุ่มพระสงฆ์ที่จะร่วมยื่นฎีกานำโดยพระมหาโชว์ ทัสสนีโย ซึ่งกล่าวว่า ขณะนี้บ้านเมืองตกทุกข์ได้ยาก เศรษฐกิจย่ำแย่ สังคมแตกแยก และเมื่อการเมืองมีปัญหา สังคมก็จะไม่สงบสุข พระสงฆ์ซึ่งอาศัยสังคมอยู่จึงคิดว่าจะมีทางใดที่ช่วยได้บ้าง โดยไม่กระทบต่อพระธรรมวินัยและกระทบต่อคณะสงฆ์ โดยกลุ่มพระสงฆ์ได้เห็นกลุ่มคนเสื้อแดงจะถวายฎีกา และมีข้อหนึ่งขออภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ การติดคุกก็เป็นการแสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือน

"พระสงฆ์จึงต้องการถวายฎีการ้องทุกข์ด้วยเช่นกัน แต่หากจะยื่นคนละครั้งกับกลุ่มเสื้อแดง ก็กลัวจะเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท จึงจะได้เสนอฎีกาครั้งนี้ไปพร้อมๆ กับคนเสื้อแดง" พระมหาโชว์ กล่าว

ก่อนที่พระสงฆ์จะร่วมลงนามก็ได้พิจารณาแล้วว่าไม่กระทบกับพระธรรมวินัย ขณะที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กระทบและกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามเอาไว้ และเป็นสิทธิที่กระทำได้ ซึ่งยอมรับว่าหากมีพระราชวินิจฉัยไปในทางใดก็จะยอมรับฟัง โดยขณะนีมีพระสงฆ์ร่วมลงนามแล้วประมาณ 2,000 รูป

"บางเรื่องไม่จำเป็นต้องขอ(อนุญาตมหาเถระสมาคม) เพราะมติครั้งนี้ ไม่กระทบต่อพระธรรมวินัยหรือคณะสงฆ์...การถวายฎีกาครั้งนี้ต้องการเตือนสติไม่ให้สังคมแตกแยกอย่างที่เป็นอยู่" พระมหาโชว์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ