วุฒิสภาผ่าน พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนลบ./"เรืองไกร"เล็งยื่นศาลรธน.ตีความ

ข่าวการเมือง Monday September 21, 2009 21:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ 76 ต่อ 6 เสียง งดออกเสียง 5 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. ....เพื่อกู้เงิน 4 แสนล้านบาทมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว หลังจากมีการอภิปรายในเน้นสาระสำคัญในมาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นหลักที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีการระบุรายละเอียดของการใช้เงินกู้ดังกล่าว

ส.ว.หลายคนได้สงวนคำแปรญัตติ อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายอนุรักษ์ นิยมเวช, นายไพบูลย์ นิติตะวัน, นายธวัช บวรวนิชยกูร, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา, นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ เป็นต้น เนื่องจากต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีกลไกการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่รัดกุมมากขึ้นด้วยการกำหนดแผนการทำโครงการต่างๆที่ชัดเจน รวมทั้งควรกำหนดรายละเอียดของการกู้เงิน และการชำระคืนเงินกู้ให้ประชาชนรับทราบ เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปอย่างประมีประสิทธิภาพ

สำหรับมาตรา 3 ใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบัญญัติว่า “การให้อำนาจกระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้เงินบาทในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ตามพ.ร.บ.ต่อรัฐสภา เพื่อทราบก่อนเริ่มดำเนินการ" โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นว่าควรเปลี่ยนคำว่า “เพื่อทราบ"เป็นคำว่า “เพื่อพิจารณา" พร้อมเพิ่มวรรคท้ายว่า “ โดยแสดงรายละเอียดของโครงการที่จะนำเงินกู้ไปใช้จ่าย" ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ไม่เห็นด้วย เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยตีความว่าหากเสนอให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาโครงการต่างๆอาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 171 เรื่องอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งหาก ส.ว. ยังยืนยันแก้ไขคำดังกล่าวรัฐบาลก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากศาลฯเห็นตามรัฐบาลและกฤษฎีกาหรือตามร่างเดิมก็จะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็จะตามมาระดับที่คำนวณไม่ได้

การชี้แจงของนายกรณ์ทำให้ส.ว.ที่สงวนคำแปรญัตติแสดงความไม่พอใจ โดยนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า คำพูดของนายกรณ์เป็นการข่มขู่วุฒิสภา ขอเตือนว่าวุฒิสภาไม่ได้เป็นตรายาง และวุฒิสภาแห่งนี้มาขู่กันไม่ได้ ลองดูจากกฎหมายก่อนหน้านี้ที่วุฒิสภาคว่ำไปหลายฉบับก็เป็นข้อพิสูจน์

อย่างไรก็ตาม นายกรณ์ ชี้แจงว่า ไม่ได้มีเจตนาขมขู่สภาด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ต้องการเร่งทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าอยู่ จึงต้องสร้างความชัดเจนด้านบทบาท อำนาจให้เร็วที่สุด และยืนยันว่าเพื่ออุดช่องโหว่ และและการรั่วไหลของเม็ดเงิน

ในที่สุดที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติในมาตรา 3 โดยเห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการแก้ไขให้เปลี่ยนคำว่า “เพื่อทราบ" เป็นคำว่า “เพื่อพิจารณา" ด้วยคะแนน 51 ต่อ 34 ไม่ลงคะแนน 4 งดออกเสียง 1 เสียง

ขณะที่มาตรา 4 นั้นที่ประชุมจะมีมติ 54 ต่อ 37 เห็นด้วยกับการบัญญัติว่า “เงินที่ได้จากการกู้ตามมาตรา 3 ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง"แต่ก็มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดย มี ส.ว. แปรญัตติว่า เงินที่กู้มา“ต้องนำส่งคงคลัง" และเบิกจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณฯ แม้ว่าที่ผ่านมากฎหมายจะอนุญาตไม่ต้องนำส่งเข้าเงินคงคลังได้ แต่รัฐบาลควรทำตามกฎหมายงบประมาณฯที่มีการรตรวจสอบเข้มข้นมากกว่า

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว. สรรหา กล่าวว่า การที่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในลักษณะนี้ ขั้นตอนจากนี้ไปต้องส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หากยังยืนยันตามร่างเดิมก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาต่อไป และภายในสัปดาห์หน้า ทางส.ว.ประมาณ 15 คนจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดกับพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ที่กำหนดให้รัฐบาลสามารถกู้เงินนอกงบประมาณได้เพียง 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ