วิปรัฐบาลนัดพรุ่งนี้ถกแก้รธน.หลังยกร่างเสร็จ ยังหวังพท.กลับใจร่วมสังฆกรรม

ข่าวการเมือง Wednesday October 21, 2009 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) เผยเค้าโครงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ใน 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมเสนอให้ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายวันพรุ่งนี้(22 ต.ค.) แม้วิปฝ่ายค้านไม่ยอมร่วมสังฆกรรม แต่ก็ยังจะเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือต่อไป

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาลเห็นชอบให้ตัวแทนไปหารือกับวิป 3 ฝ่ายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ในวันที่ 22 ต.ค. เวลา 10.00 น.

ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้หารือนอกรอบกับคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายทั้ง 2 สภาเพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการฯ ยืนยันว่าสามารถทำให้เสร็จทันเวลาทั้งเค้าโครงรายละเอียด พร้อมเหตุผล การเปรียบเทียบจุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละประเด็น รวมทั้งทางเลือกให้วิป 3 ฝ่ายพิจารณา โดยสามารถยกร่างได้ 2 แนวทาง คือ ยกร่าง 6 ประเด็นในฉบับเดียวกัน และแยกเป็นประเด็นละฉบับเป็น 6 ฉบับ ตามข้อเสนอของวิป 3 ฝ่ายได้ ส่วนการจัดทำประชามติคงจะต้องหารือต่อในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพราะขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าต้องทำประชามติก่อนที่จะลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291

"วันนี้แต่ละพรรคได้ยืนยันมติของพรรคตัวเอง โดยผมได้นำความชัดเจนคือมติของพรรคประชาธิปัตย์มายืนยันว่าจะเดินหน้าให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมติของวิป 3 ฝ่าย เพื่อสร้างจุดเริ่มต้นของความสมานฉันท์ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นต่างก็ยืนยันต่อที่ประชุมว่าพร้อมจะเดินหน้าต่อไป โดยประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม"นายชินวรณ์ กล่าว

ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยขอถอนตัวจากที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายนั้นคงจะต้องตอบคำถามสังคมเองว่ามีเหตุผลอะไร อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานเรื่องนี้จะต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะบ้านเมืองเกิดขณะนี้เกิดความแตกแยก ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จึงอยากให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันแสวงหาจุดร่วมที่เห็นพ้องต้องกัน เพื่อหาแนวทางสมานฉันท์ รวมทั้งเรียกความเชื่อมั่นทั้งจากภายในและต่างประเทศ

สำหรับการประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาเค้าโครงว่ากรรมการยกร่างจะใช้รูปแบบใด โดยเฉพาะหลักการของกฎหมายจะต้องไม่ผูกมัด ปิดกั้นการแปรญัตติของสมาชิก รวมทั้งบทเฉพาะว่าควรจะมีในประเด็นใดบ้าง เช่น หากมีการแก้ไขที่มาของ ส.ส. และ ส.ว.นั้นจะต้องเขียนในบทเฉพาะกาลว่าจะให้มีผลบังคับใช้ทันทีหรือการการเลือกคั้งครั้งต่อไป รวมทั้งจะขอความชัดเจนจากพรรคเพื่อไทยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยถอนตัวจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อยากให้ไปถามพรรคเพื่อไทยที่เปลี่ยนท่าทีหลลังได้รับสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการออกมาเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แทน พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการให้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาอย่างไร

"ที่ผ่านมาเคยโจมตีว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ร่างโดย คมช.ที่ไม่ผ่านรัฐสภา แต่การเรียกร้องดังกล่าวกลับจะใช้มวลชนและวิธีการที่ไม่ผ่านกระบวนการรัฐสภาได้อย่างไร"นายชินวรณ์ กล่าว

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า จะไม่ร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย โดยจะให้รัฐบาลหารือกับวุฒิสภาให้ตกผลึกก่อนแล้วค่อยแจ้งมาที่ฝ่ายค้าน ซึ่งเชื่อว่าเสียงของรัฐบาลและพรรคร่วมเพียงพอที่จะเสนอญัตติอยู่แล้ว

"แม้จะมีการเรียกประชุมวิป 3 ฝ่ายอีกกี่ครั้ง ฝ่ายค้านก็จะยังยืนยันในแนวทางนี้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการเสนอญัตติเข้าสู่สภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 พรรคเพื่อไทยก็พร้อมที่จะร่วมพิจารณาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ" นายวิทยา กล่าว

ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า พร้อมที่จะถกในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น แต่พรรคมีมติชัดเจนยืนยันในหลักการว่าจะนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นหลักเทียบเคียงในการแก้ไข แต่ยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ

ส่วนการโหวตของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยในวันลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามมติของพรรคหรือฟรีโหวตนั้น นายวิทยา กล่าวว่า ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลักก็คงเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ