(เพิ่มเติม) นปช.ยื่นคำขาดยุบสภาใน 2 สัปดาห์ พักเจรจานัดคุยกันต่อเย็นพรุ่งนี้

ข่าวการเมือง Sunday March 28, 2010 20:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ผ่านไปแล้วราว 3 ชั่วโมงยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ และตกลงที่จะพักการเจรจาไว้ก่อน และจะมาพบกันอีกครั้งในเวลา 18.00 น.วันพรุ่งนี้หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับจากไปเยือนประเทศบรูไน โดยทางฝ่ายแกนนำ นปช.ยื่นข้อเสนอก่อนจบการเจรจาด้วยการให้เวลานายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์

"วันนี้ยังไม่ถือว่ามีความสำเร็จเพราะเป็นการเริ่มต้นจะพูดคุยกันเท่านั้น และยุบสภาเป็นเงื่อนไขเดียวเท่านั้น"นายจตุพร พรหมพันธ์ หนึ่งในแกนนำ นปช.กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการเจรจารอบแรก

ในการเจรจาวันนี้ทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงเหตุผลและรับฟังความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย โดยฝ่าย นปช.ยืนยันข้อเรียกร้องยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะเห็นว่าขณะนี้หลายฝ่ายในสังคมมีความขัดแย้งทางความคิดเห็นด้านการเมือง ขณะที่รัฐธรรมนูญและรัฐบาลชุดนี้เป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ควรจะให้ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาวางกติกาที่เหมาะสม

"เราก็มีแถลงการณ์ที่จะเรียกร้องก็ง่าย ๆ และก็ตรงไปตรงมา คืออยากให้มีการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนได้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ได้มีอคติอะไรมากหรอกครับ ไม่มีจิตใจที่ต้องการทำลายอะไรใคร แต่เห็นว่ามันแก้ปัญหาได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือว่าข้อขัดข้องระหว่างพวกเรามันไปอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นปัญหาหลัก และความไม่สบายใจกันตลอดมา ทีนี้รัฐธรรมนูญก็ไม่จบสักทีหนึ่งว่าจะเอากันอย่างไร จะแก้กันแบบไหน หรือจะทำประชามติหรือไม่"นายวีระ กล่าว

นพ.เหวง โตจิราการ หนึ่งในแกนนำที่เข้าร่วมเจรจา กล่าวว่า รัฐบาลขณะนี้อยู่ในมือของทหาร ไม่ได้เป็นรัฐประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และการที่มาเสนอนายกฯในวันนี้เพื่อต้องการคืนอำนาจให้ประชาชนเจ้าของประเทศตัดสินใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยพูดไว้ตั้งแต่ครั้งทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ที่เห็นด้วยกับการรับร่างและแก้ไขในภายหลัง แต่ก็มีเวลามานานแล้วกลับไม่ได้ทำ

นอกจากนั้น ประเทศไทยในขณะนี้มีความคิด 2 ชุด มีความแตกร้าวทางความคิดมานาน ต้นตอเกิดจากการปฏิวัติรัฐประหารที่ทำลายประชาธิปไตยอย่างขัดเจน

"อำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือทหาร รัฐไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภาก็เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ และอยากให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง"นพ.เหวง กล่าว

ด้านนายจตุพร กล่าวว่า จุดยืนของนปช.มีข้อเรียกร้องเดียวคือการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งหากรัฐบาลไม่คิดจะยุบสภา นปช.ก็จะกลับไปต่อสู้ในรูปแบบเดิม โดยไม่มีการยึดสถานที่ราชการ หรือทำเนียบรัฐบาล เหมือนกับกลุ่มอื่นที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ แต่จะต่อสู้แบบสันติตามจุดยืนที่ประกาศไว้ และเชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่เชื่อว่าสภาชุดนี้จะแก้รัฐธรรมนูญได้ ควรจะคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจจะดีกว่า อยากให้นายกรัฐมนตรีกลับไปทบทวนก่อน หากเห็นตรงกันก็ค่อยกลับมาพูดคุยกันใหม่ได้ ยืนยันว่าหากมีการเลือกตั้งแล้วฝ่ายรัฐบาลมั่นใจว่าจะได้ 240 เสียงนั้นชนะการเลือกตั้ง นปช.ก็จะยอมรับผลการเลือกตั้งและจะไม่ออกมาชุมนุมหรือขัดขวางรัฐบาลอีก

"ผมไม่เชื่อว่าสภาชุดนี้จะแก้รัฐธรรมนูญได้ พวกผมเรียกร้องให้ไปตายเอาดาบหน้า ฝ่ายไหนได้เปรียบเสียเปรียบให้ประชาชนตัดสินใจ"นายจตุพร กล่าว

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันและมองว่าการยุบสภาในขณะนี้ไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงของประชาธิปไตย และไม่สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งในสังคมและทำให้บ้านเมืองสงบสุขได้ แต่ก็พร้อมรับฟังข้อเรียกร้องและความคิดเห็นของฝ่ายนปช. ซึ่งก็จะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนส่วนอื่น ๆ ด้วย เพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนปช.

"ผมก็ถือว่าการยุบสภาก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระบบ แต่ว่ามันมีคำถามเท่านั้นเองว่าการยุบสภาเราต้องการที่จะทำอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ผมคิดว่าวันนี้สิ่งที่มันแสดงออกมาจากความขัดแย้ง มันจะเริ่มจากตรงไหน ผมไม่ได้คิดว่ามันเริ่มเพราะว่าผมมาเป็นนายกฯ ผมไม่ได้คิดว่ามันเริ่มเพราะว่ามีการปฏิวัติรัฐประหาร ผมคิดว่ามันอาจจะยาวไกลไปกว่านั้นหลายเรื่องสะสมกันมา มีเรื่องโครงสร้างบ้าง เรื่องตัวบุคคลบ้าง เรื่องอะไรบ้าง ปัญหามันก็ลุกลามมากขึ้น

เพราะฉะนั้นที่ผมได้พูดมาตลอดเรื่องของการยุบสภา ผมก็เรียนว่าข้อที่ 1 สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลที่สุดก็คือ ถ้าเราคิดว่ามันเป็นทางออก ทุกคนชนะ ประเทศสงบสุข ผมก็นึกไม่ออกมาใครจะค้าน แต่ผมคิดว่าถ้าเราเริ่มคุยกัน เราก็จะเริ่มเห็นประเด็นต่าง ๆ ที่เราคงจำเป็นจะต้องมาทำความเข้าใจพูดคุยกันก่อนว่า ตกลงการยุบสภา มันเป็นคำตอบเหมือนกันดีดนิ้วแล้วจบ ชนะ จริงหรือไม่"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ควรจะมีการวางกรอบกติกาก่อนที่จะมีการยุบสภา ซึ่งตนเองไม่ขัดข้องหากจะมีการยุบสภา แต่เชื่อว่าความขัดแย้งก็ยังไม่จบ จึงควรมีการพูดคุยเรื่องกรอบรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนที่ทุกฝ่ายยอมรับก่อน ถ้าหากเกรงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนานเกินไป ก็ขอให้กลับมาทบทวนใน 6 ประเด็นที่สภาเคยเดินหน้าก่อนหน้านี้ก็ได้ เพราะถ้าอยากให้การยุบสภาช่วยคลายอารมณ์ทางการเมืองของประชาชน ควรจะทำโรดแมปหารือกติการ่วมกัน เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ในระยะยาว ไม่เช่นนั้นอาจมีสีใหม่เกิดขึ้น และอยากให้ฝ่ายอื่นเข้ามาร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยกัน

"ถ้าบอกว่ายุบสภาพรุ่งนี้จะคลายอารมณ์ ผมไม่ใช่เจ้าของที่จะซ้ายสั่งขวาประชาชนได้ มันต้องใช้เวลาในการคลายอารมณ์ ถ้าหากมีการทำโรดแมปแล้วเห็นตรงกันก็จะช่วยคลายอารมณ์ได้ กลับมากำหนดกรอบเวลาใหม่ได้...มีคนบอกว่ายอมไม่ได้ถ้าจะยุบสภา ผลที่ออกมาบางฝ่ายอาจจะยอมรับบางฝ่ายไม่ยอมรับ มันก็ยังเป็นปัญหาของประเทศ แต่หากมีกลุ่มอื่น เราจะเชิญมาร่วมดีไหม ปัญหาจะได้แก้"นายกรัฐมนตรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ