ส.ว.ยื่นผลประชุมนัดพิเศษต่อปัญหาม็อบแดงให้รัฐบาล แนะ 2 ฝ่ายเปิดเจรจา

ข่าวการเมือง Thursday April 22, 2010 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา พร้อมคณะ ได้ยื่นหนังสือรายงานการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่พิจารณาญัตติเรื่องขอให้เรียกประชุมวุฒิสภาในกรณีพิเศษเป็นการด่วนที่สุด เพื่อพิจารณาร่วมกันถึงการแสวงหาแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน ต่อนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายสิงห์ชัย กล่าวว่า ส.ว.ทุกคนมีความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ จึงได้รวบรวมคำอภิปราย ข้อเสนอแนะของที่ประชุม ส.ว.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเราเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายจะเป็นประโยชน์อย่างมาก แม้ไม่เป็นมติของวุฒิสภาแต่หวังว่าฝ่ายบริหารโดยเฉพาะรัฐมนตรีจะเห็นความสำคัญในข้อคิดเห็นของสมาชิกที่มีความอาวุโสหลายคน เพราะเราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้กับสถานการณ์การเมือง

นอกจากนี้จะนำรายงานดังกล่าวไปยื่นต่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ ทั้งนี้ไม่ได้คิดว่าความคิดเห็นของส.ว.จะเป็นคำตอบสุดท้าย แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการนำแนวทางไปแก้ปัญหา โดยข้อสรุปของส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ควรใช้การเจราทั้ง 2 ฝ่ายอีกครั้งและอย่าสร้างสถานการณ์ยั่วยุ

ด้านนายสาทิตย์ กล่าวว่า ได้ติดตามรับฟังการอภิปรายของส.ว.ในวันนั้น ซึ่งได้รับทราบความคิดเห็นพอสมควร และรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ขณะนี้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตั้งใจที่จะใช้เวทีรัฐสภาโดยขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ ซึ่งรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

นายอนุรักษ์ นิยมเวช ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา พร้อมคณะกรรมาธิการฯได้ออกแถลงการณ์ในนามคณะกรรมาธิการฯว่า กรณีการชุมนุมของกลุ่มนปช.เรียกร้องให้ยุบสภาและดำเนินการนโยบายการจัดการต่อผู้ชุมนุมจนทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. รวมถึงการชุมนุมที่แยกราชประสงค์นั้น คณะกรรมาธิการฯ มีมติเพื่อเสนอต่อรัฐบาลดำเนินการดังนี้

1.ต้องกำหนดวิธีการและขั้นตอนการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายด้วยสันติวิธี และลดท่าทีในการยุติการชุมนุมด้วยความรุนแรง 2.ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว

3.ต้องกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และกลุ่มต่างๆ เผชิญหน้ากันจนเกิดการปะทะระหว่างประชาชนด้วยกันเอง และ 4.ต้องใช้รัฐสภาเป็นหลักในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะการประชุม ส.ว.ที่ยื่นขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 179


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ