"จาตุรนต์" แนะฟ้องศาลอาญาระหว่างปท.เอาผิดนายกฯ ใช้กำลังสลายการชุมนุม

ข่าวการเมือง Thursday April 29, 2010 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงถึงกรณีที่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มนปช. ว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะการใช้อาวุธเข้าปราบปรามประชาชน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ขัดต่อหลักปฎิบัติสากล

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าหากรัฐบาลชุดใหม่ป็นคนละขั้วกับรัฐบาลปัจุบันนั้นสามารถที่จะร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกเพื่อลงโทษกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนี้เป็นเป็นผู้สั่งการ และตนที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวพร้อมที่จะไปเป็นพยานด้วย เพราะเห็นได้ชัดว่าการเข้าสลายการชุมนุมเป็นคำสั่งจากฝ่ายการเมือง

"หากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลต่อไปสามารถยื่นเรื่องนี้ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะรัฐบาลขัดหลักละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง นายอภิสิทธิ์ เป็นพลเรือนแต่สั่งการทหารให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งหากในอนาคตมีการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์สามารถที่จะยื่นเรื่องดังกล่าวได้ในทันที" นายจาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า พฤติกรรมที่ปรากฎเริ่มมาจากข้อมูลที่บิดเบือนใส่ร้ายผู้ชุมนุมทำให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นกระบวนการก่อการร้าย ต้องการล้มล้างสถาบันโดยปราศจากหลักฐาน โดยมุ่งหวังที่จะเข้าสลายการชุมนุมหรือปราบปรามการชุมนุมโดยการใช้อาวุธและนำมาซึ่งความสูญเสียความขัดแย้งของประชาชนอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ตนขอให้นายกฯเปลี่ยนใจอย่าได้กล่าวหาว่าผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะรองเลขาฯศาลยุติธรรมได้ระบุชัดว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย ดังนั้นรัฐบาลจะใช้กฎหมายการก่อการร้ายไม่ได้ ซึ่งการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ผ่านมาเป็นแค่การขัดขวางเจ้าพนักงานเท่านั้น

"การก่อการร้ายหมายความว่าต้องมีการขู่เข็ญรัฐบาล ขู่เข็ญองค์กรระหว่างประเทศ อีกทั้งแกนนำของคนเสื้อแดงและประชาชนร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาชนธิไตย หากรัฐบาลใช้คำว่าการก่อการร้าย เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการเข้าไปจัดการสลายการชุมนุม ซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคนเสียชีวิตกว่า 4,100 คน บาดเจ็บ 6,000 กว่าคนยังไม่มีใครกล้าเรียกเป็นการก่อการร้ายเลย" นายจาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การใส่ร้ายเช่นนี้มองเจตนาของรัฐบาลได้ว่าพยายามใช้มาตราการที่รุนแรงเข้ามาจัดการโดยเฉพาะการกล่าวหาว่าล้มเจ้า ซึ่งถือเป็นการจับแพะชนแกะโดยปราศจากหลักฐาน ซึ่งบุคคลที่ถูกกล่าวหาล้วนแล้วแต่เป็นฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล และทำให้เชื่อว่ารัฐบาลมุ่งหวังเข้ามาปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน ยิ่งเมื่อดูเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน และเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายนที่มีการใช้อาวุธหนักจนเกิดอุบัติเหตุทำให้ทหารเสียชีวิต แสดงชัดเจนว่ารัฐใช้อาวุธเกินความจำเป็น ขัดต่อหลักของยูเอ็น ที่จะสามารถใช้อาวุธได้ในภาวะที่ยกเว้นหรือพิเศษจริงๆไม่ใช่ออกกฎหมายมาแล้วจะมาเข่นฆ่ากันก็ได้

นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในขบวนการล้มเจ้า ว่า ถือเป็นการใส่ร้ายทางการเมืองที่น่ารังเกียจเป็นอย่างมาก เพราะ พล.อ.ชวลิต เคยต่อสู้เพื่อราชบังลังก์มาในอดีต ขณะที่คนกล่าวหากลับไม่ได้มีประวัติการต่อสู้เพื่อราชบังลังก์อย่างไร แสดงเห็นว่าเป็นการกล่าวหาที่เป็นเพื่อการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมกับ พล.อ.ชวลิตเลย

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปยังศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)ของ พล.อ.ชวลิตในวันที่ 30 เมษายนนั้น เชื่อว่า พล.อ.ชวลิตจะเป็นผู้สอบถาม ศอฉ.มากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ