คสรท.ออกแถลงการณ์ตีกันนายจ้างฉวยโอกาสวิกฤตบ้านเมืองเลิกจ้างแรงงาน

ข่าวการเมือง Friday May 7, 2010 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ออกแถลงการณ์เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ผลกระทบกับแรงงาน เพื่อตีกันไม่ให้นายจ้างฉวยโอกาสปลด ลดการจ้างแรงงาน หรือลดทอนสภาพการจ้างงานของแรงงานในสถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งวิธีการจ้างงานที่เลี่ยงกฎหมาย โดยอ้างเหตุได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

"จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันเริ่มมีการลดการจ้างงานในบางกิจการ และปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน แต่นายจ้างและผู้ประกอบการก็ไม่ควรใช้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้าง หรือลดทอนสิทธิของผู้ใช้แรงงาน" น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย คสรท.ระบุในแถลงการณ์ฯ

สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้แรงงานไม่มีหลักประกันที่จะรับรองคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการสังคมที่ไม่เอื้อต่อการคุ้มครองและลักษณะการจ้าง งานที่เป็นรายวัน แบบรับเหมาช่วง รับเหมาค่าแรง ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤติต่างๆ ขึ้นผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็เป็นข้ออ้างของนายจ้างที่จะออกมาเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

แถลงการณ์ฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานสร้างกลไกคุ้มครองแรงงานที่ได้รับผลกระทบในภาวะวิกฤตทางการเมือง และตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการจ้างงานในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเลิกจ้างหรือผลกระทบอื่นๆ ต่อผู้ใช้แรงงาน โดยจะต้องมีตัวแทนของผู้ใช้แรงงานเข้าไปเป็นกรรมการในระดับชาติ ขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณากลไกการคุ้มครองแรงงานทุกระดับในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง,

รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องมีกองทุนเพื่อรองรับผลกระทบของการจ้างงานในภาวะความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีหลักการที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาส่งผลโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน และแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง, รัฐบาลและผู้ชุมนุม ตลอดจนประชาชนทั่วไปจะต้องไม่ก่อให้เกิดภาวะความเกลียดชังต่อกันและกัน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกจนไม่อาจเยียวยา ดังนั้นประชาชนทุกคนควรแสดงความเห็นและแสดงออกทางการเมืองบนพื้นฐานของความแตกต่าง แต่เคารพในความเป็นมนุษย์ของฝ่ายที่คิดต่าง รวมทั้งไม่ใช้สื่อในไปทิศทางที่จะสร้างความเกลียดชังดังกล่าวด้วย,

รัฐและผู้ชุมนุมจะต้องลดท่าทีการคุกคามต่อชีวิตของทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งนี้รัฐจะต้องไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายใดๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงและเกิดการสูญเสีย ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมทุกฝ่ายก็จะต้องลดท่าทีหรือการชุมนุมในลักษณะที่คุกคามต่อผู้อื่น, รัฐและผู้ชุมนุมทุกส่วนจะต้องให้เสรีภาพในการนำเสนอและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่มีการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นสื่อโดยกฎหมาย หรือการบุกรุกใช้กำลังต่อสื่อมวลชน ขณะเดียวกันองค์กรวิชาชีพและภาคประชาชนจะต้องเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการดูแลการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่นำไปสู่การยั่วยุหรือการสร้างความเกลียดชัง


แท็ก ชุมนุม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ