สื่อชี้นายกฯญี่ปุ่นคนใหม่ต้องรับภาระผลักดันเศรษฐกิจขยายตัว-รมว.คลังตัวเก็งนายกฯคนใหม่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 2, 2010 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มาริโกะ ยาสึโมโตะ แห่งสำนักข่าวเกียวโดได้วิเคราะห์ว่า การประกาศลาออกจากตำแหน่งของนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในวันนี้ ส่งผลให้ตลาดจับตาดูว่า นายกฯคนใหม่จะแสดงความเป็นผู้นำในการกำหนดและใช้ยุทธศาสตร์การเติบโตที่มีความน่าเชื่อถือ และหลักการทางการเงินเพื่อเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงินจากการลาออกดังกล่าวมีไม่มากนัก เนื่องจากพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่นหรือดีพีเจ ซึ่งมีที่นั่งในสภาผู้แททนราษฎรสูงสุด มีแนวโน้มว่าจะทำหน้าที่ต่อไปจนกระทั่งถึงการเลือกตั้งสมัยต่อไปที่ยังไงก็คงจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2558 แต่นักเศรษฐศาสตร์บางรายก็เป็นห่วงว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้การประกาศนโยบายการเงินในระยะกลางและยุทธศาสตร์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำหนดไว้ช่วงสิ้นเดือนนี้ ต้องล่าช้าออกไป ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพยายามที่จะคลายความกังวลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

นายฮิโรชิ โอกุชิ เลขาธิการสภาการเงินกล่าวว่า การบริหารงานของรัฐบาลควรจะมีความต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามใช้มาตรการเพื่อไม่ให้ตลาดวิตกกังวล แม้ว่ามุมมองที่มีต่อหัวหน้าพรรคดีพีเจหรือนายกฯคนใหม่จะสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการเงินและการบริหารเศรษฐกิจระยะกลาง ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้าทำหน้าที่จะต้องกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับตัวเก็งนายฯคนต่อไปของญี่ปุ่นนั้น นายนาโอโตะ คัง รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น วัย 63 ปี เป็นตัวเก็งที่คาดว่า จะเข้ามาทำหน้าที่ต่อจากนายฮาโตยามะ เขาเคยเป็นหัวหน้าพรรคดีพีเจมาก่อน และยังมีนโยบายเรื่องการขึ้นภาษี ขณะที่ยังมีความวิตกกังวลเรื่องหนี้ในยุโรป

ตลาดคาดว่า จะให้การยอมรับกับจุดยืนพื้นฐานของนายคัง แต่การที่ญี่ปุ่นยังไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรมว่า นายคังจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูสถานภาพทางการเงินในช่วงที่อัตราหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับเกือบจะ 200%

เคียวเฮ โมริตะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ส แคปิตอล เจแปน กล่าวว่า นายโยชิโตคะ เซงโกคุ รัฐมนตรีฝ่ายนโยบาย ซึ่งดูแลด้านสถานภาพการเงินนั้น อาจจะถูกดึงเข้ามาร่วมครม.ชุดใหม่ที่คาดว่า จะมีการเปิดตัวในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องการเงินก็อาจจะเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับครม.ชุดใหม่ เนื่องจากประเด็นเรื่องฐานทัพสหรัฐที่สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลนายฮาโตยามะมาแล้วหลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลประกาศถอนตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ