คกก.แก้ รธน.เสนอเลิกยุบพรรค แต่เพิ่มโทษหัวหน้า-กก.บห.กรณีทุจริตเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Friday September 3, 2010 18:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการ คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกรอบ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยที่ประชุมมีมติให้แก้ไขมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนหากสมาชิกกระทำผิดต่อการเลือกตั้ง พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องถูกยุบ แต่ให้มีการเพิ่มสัดส่วนโทษของผู้ที่มีการทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งหากเป็นกรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิ่มโทษการเพิกถอนจากการเลือกตั้ง เป็น 10 ปี จากเดิม 5 ปี แต่หากเป็นหัวหน้าพรรคให้เพิ่มโทษเป็น 15 ปี จาก 5 ปี

"มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคว่าด้วยการทุจริตการเลือกตั้ง คณะกรรมการเห็นว่าพรรคการเมืองไม่ควรถูกยุบ ถ้าทุจริตการเลือกตั้ง พรรคการเมืองอยู่ได้ แต่ผู้กระทำความผิดควรได้รับโทษในสถานะที่ต่างกันไป ซึ่งหากเป็นกรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิ์ 10 ปี และหากเป็นหัวหน้าพรรค ถูกตัดสิทธิ์ 15 ปี"

แต่ทั้งนี้ ยังคงมาตรา 68 ไว้ ในกรณียุบพรรคว่าด้วยความผิดอันเกิดจากความผิดร้ายแรง มีผลต่อความมั่นคง หรือมีผลต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พรรคการเมืองสามารถถูกยุบพรรคได้

ในส่วนของระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทางคณะกรรมการได้มีมติเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของที่มาสมาขิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด 500 คน แบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์แบบเขต 375 คน เป็นเขตเดียวเบอร์เดียวทั่วประเทศ และบัญชีรายชื่อ 125 คน ที่ประชุมเห็นว่าควรกลับไปใช้การเลือกตั้ง ส.ส. ตามอย่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 คือ แบบเขตเป็นเสียงข้างมากเขตละ 1 คน และบัญชีรายชื่อเดียวทั่วประเทศ

ในมาตราที่ 111-121 ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) เห็นควรแก้ในมาตราที่ 113 คือ มีการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมคณะกรรมการสรรหา สว. ซึ่งจะมีการเลือกกันเองประกอบด้วยตัวแทนจากตุลาการ 1 คน ศาลฎีกา 5 คน คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด 1 คน องค์กรอิสระ 1 คน องค์กรวิชาชีพตามกฎหมายองค์กรละ 1 คน และศาสตราจารย์สายวิทยาศาสตร์ 5 คน สายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และ มาตรา 114 วรรคสาม คือ การแก้ไขคุณสมบัติขององค์กรที่จะเสนอชื่อแต่ละภาค หลักเกณฑ์และวิธีการ

และในมาตราที่ 237 การยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ในกรณียุบพรรคการเมือง อันเกิดจากการทุจริตการเลือกตั้ง คณะกรรมการเห็นว่า ไม่ควรยุบพรรคการเมือง แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเพิกถอนสิทธิ 5 ปี กรรมการบริหารพรรค 10 ปี หัวหน้าพรรคการเมือง 15 ปี

นอกจากนี้ ในมาตราที่ 266 การห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร ให้แก้ในวรรคที่ 1 และในมาตราที่ 265 คณะกรรมการการห้ามดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้คงไว้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจะมีการจัดทำแบบสอบถาม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผ่านสำนักงานสถิติแห่งชาติภายใน 1 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ