ปธ.วุฒิคาดส.ว.ไม่ตีรวนพิจาณางบปี 54 ลั่นไม่เคยได้ยินข่าวจ้องคว่ำร่างงบฯ

ข่าวการเมือง Monday September 6, 2010 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ระบุว่า ไม่เคยได้ยินกระแสข่าวว่ามี ส.ว.บางกลุ่มจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 54 โดยเชื่อว่าส.ว.จะพิจารณางบประมาณด้วยเหตุด้วยผล ทั้งนี้การพิจารณางบประมาณควรมองไปข้างหน้า ไม่ควรนำเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเชื่อมั่นว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีการตีรวน

โดยล่าสุดมีจำนวน ส.ว.ที่ลงชื่อขออภิปรายไว้ทั้งหมดรวม 88 คน การอภิปรายจะมีขึ้น 2 วัน คือวันที่ 6-7 ก.ย.53

ส่วนความเข้าใจว่าส.ว.บางกลุ่มจะไม่ลงมติรับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 54 เพราะมีเรื่องการขึ้นเงินเดือนส.ส.-ส.ว.นั้น นายประสพสุข กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะการขึ้นเงินเดือนส.ส.-ส.ว.ไม่ได้ขึ้นโดยกฎหมายงบประมาณ แต่ต้องมีการออกพระราชกฤษฏีกา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาขึ้นเงินเดือนส.ส.-ส.ว.แต่อย่างใด กรณีดังกล่าวหากจะมีส.ว.จะเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็สามารถทำได้ แต่ขอให้พิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ เสร็จสิ้นไปก่อน

ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ยอมรับว่า มีส.ว.บางส่วนรู้สึกไม่สบายใจต่อการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 54 โดยเห็นว่างบประมาณบางส่วนมีการกระจุกตัว โดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ประเด็นสำคัญคงต้องพิจารณาถึงการจัดสรรและกระบวนการนำงบประมาณไปใช้ในส่วนจังหวัด ทั้งนี้หากรัฐบาลสามารถชี้แจงว่าการจัดสรรงบประมาณจะสามารถดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็พอจะรับได้

ส่วนกระแสข่าวกรณี ส.ว.บางส่วนจะไม่รับร่างพ.ร.บ.ประมาณฯ โดยมีข้อกังวลการทับซ้อนของผลประโยชน์เพราะเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขึ้นเงินเดือนส.ส.-ส.ว.นั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การขึ้นเงินเดือนส.ส.-ส.ว.ต้องมีการออกเป็นพระราชกฤษฏีกา ซึ่งขั้นตอนอยู่ที่คณะรัฐมนตรี ดังนั้นการขึ้นเงินเดือนยังไม่เกิดขึ้น การลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ จึงไม่ใช่การลงมติขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง และไม่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

สำหรับภาพรวมการบริหารงบประมาณที่ ส.ว.ส่วนใหญ่มองว่าการจัดสรรงบประมาณยังเป็นการจัดสรรเพื่อประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ส.ว.ไม่มีส่วนในกระบวนการแปรญัตติในขั้นกรรมาธิการนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ เห็นว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตควรให้ส.ว.เข้าไปมีส่วนพิจารณในชั้นกรรมาธิการด้วย เพื่อให้การแปรญัตติและการจัดสรรงบประมาณเอื้อประโยชน์ต่อนักการเมืองน้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ