พท.เสวนา"4 ปีความสุขที่หายไป" ชี้รัฐบาล"อภิสิทธิ์"ทำความสุขคนไทยลดลง

ข่าวการเมือง Thursday September 23, 2010 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พรรคเพื่อไทย(พท.) จัดเสวนาเรื่อง "4 ปี ความสุขที่หายไป" โดยมีอดีตรัฐมนตรีหลายคนในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเสวนา เช่น พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ , น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายวราเทพ รัตนากร โดยส่วนใหญ่ได้พูดถึงนโยบายที่ประสบผลสำเร็จในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น นโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด, โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, แก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ, การนำหวยใต้ดินขึ้นเป็นหวยบนดิน เป็นต้น

น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ปี 44-49 เชื่อว่าเป็นปีที่ทุกคนมีความสุข ประเทศไทยมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด แต่วันนี้มืดมนยิ่งกว่าที่เกิดรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.49 เพราะไม่รู้ว่าบ้านเมืองจะพ้นวิกฤติความขัดแย้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ได้อย่างไร ผลจากการปฎิวัติจนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้ดัชนีความสุขของประเทศไทยลดลง และมีความสุขน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า, เวียดนาม, ลาว, มาเลเซีย

"ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเป็นโรคไต จะทำอย่างไรต้องขับของเสียออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด โดยต้องรวบรวมคนทุกๆ ฝ่ายมาช่วยกัน เพื่อออกจากวิกฤติ" น.พ.สุรพงษ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ดังนั้นการบรรยากาศปรองดองจะต้องเดินต่อ โดยทุกฝ่ายต้องยึดหลักความเข้มแข็ง 3 ประการ คือ ใครทำผิดต้องกล้าขอโทษ, ใครทำผิดต้องยืดอกรับผิดชอบ และใครทำผิดต้องกล้าให้อภัย และต้องยึดหลักดัชนีความสุขเหมือนประเทศภูฏาน

ด้านพล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากการยึดอำนาจ ต้องเก็บตัว ไปที่ไหนก็ไม่ค่อยมั่นใจ รู้สึกอึดอัด เพราะไม่รู้ว่าเป็นมิตรหรือประสงค์ร้าย และมองว่าขณะนี้ประเทศเหมือนขาดเจ้าภาพดูแล หน่วยงานต่างๆ ปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่ายึดประโยชน์ส่วนรวม

นายวราเทพ กล่าวว่า สิ่งแรกที่หายไปคือรัฐบาลที่ประชาชนเป็นคนเลือกหายไป แม้รัฐบาลจะบอกว่ามาจากประชาธิปไตย แต่เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ไม่ปกติ สิ่งที่หายไปส่วนที่สองคือ ความทุ่มเทในการทำงานของรัฐบาลเทียบกับทุกรัฐบาลในอดีต รวมถึงความเชื่อมั่นในตัวผู้นำมีน้อย นอกจากนี้สิ่งที่หายไปคือนโยบายดีๆ และมีผลต่อประชาชน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เพราะอาจเกรงว่าถ้าทำดีไปจะเหมือนเป็นการต่อยอดสิ่งดีๆ ให้กับรัฐบาลที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ