(เพิ่มเติม) ThaiBMA คาดปี 53 เอกชนออกหุ้นกู้ 2.5 แสนลบ.,ปีหน้ารอประเมินมาตรการรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 11, 2010 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.53) มีภาคเอกชนออกหุ้นกู้แล้วจำนวน 1.91 แสนล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 53 คาดว่าจะมีภาคเอกชนออกหุ้นกู้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เนื่องจากมองว่ายังมีหุ้นกู้ของบริษัทขนาดกลางและเล็กที่จะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี

อย่างไรก็ตาม การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในปีนี้ยอมรับว่าลดลงจากปี 52 ที่มียอดรวม 4.3 แสนล้านบาท เนื่องจากปีก่อนมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่รายแห่งเร่งระดมเงินด้วยการออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมาก แต่ในปีนี้กลับมีการออกลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอโครงการลงทุนในมาบตาพุด

ส่วนในปี 54 ยังไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชน โดยขอรอประเมินมาตรการจากรัฐบาลที่จะออกมาดูแลค่าเงินบาทก่อนว่าจะมีผลต่อเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติมากน้อยอย่างไร

"ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าปีหน้าภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้มากน้อยแค่ไหน เพราะยังมีหลาย factor ที่มีผล รวมถึงมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาขอรอดูผลก่อนว่าตลาดจะรอบรับแค่ไหน...แต่ปี 54 มองว่าดอกเบี้ยอาจจะขยับขึ้น หากดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2% ปีหน้าดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ก็น่าจะเพิ่มขึ้น"นางสาวอริยา กล่าว

สำหรับการที่รัฐบาลเตรียมจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรในการลงทุนในพันธบัตรของนักลงทุนต่างประเทศนั้น ขณะนี้ได้ส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้แล้ว โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ต.ค.53 หลังมีกระแสข่าวออกมาทำให้ผลตอบแทนอ้างอิงพันธบัตรอายุ 5-10 ปี ปรับขึ้นไปแล้ว 0.005% และวันนี้ผลตอบแทนอ้างอิงได้ขึ้นไปอีก 0.010% ซึ่งสะท้อนว่าตลาดมีความกังวลกับมาตรการที่ออกมา

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศไทยและมีผลต่อค่าเงิน จึงเป็นเรื่องที่ทางการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะหาแนวทางชะลอเงินลงทุนของต่างชาติ แต่ก็หวังว่าจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น 3-6 เดือน

"เชื่อว่าตลาดก็คงไม่แฮปปี้กับมาตรการนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทางการจะต้องออกมาตรการมา แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลรุนแรง และดีกว่ามาตรการกันเงินสำรอง 30% แต่ก็หวังว่าจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น" นางสาวอริยา กล่าว

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA เชื่อว่า การที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และมีผลต่อการซื้อขายตราสารหนี้ชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากเงินทุนที่เข้ามาลงทุนจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยตราสารหนี้ระยะสั้น อาจจะมีผลกระทบไม่มาก แต่ตราสารหนี้ระยะยาวอาจจะมีผลกระทบพอสมควร

ปัจจุบัน มีเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนตราสารหนี้สุทธิ 210,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น แต่กว่า 1 ปี และตราสารหนี้ระยะยาว คิดว่าเป็นการซื้อขายตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติเฉลี่ย 2,500 ล้านบาท/วัน

มองว่ามาตรการดังกล่าวที่จะออกมาน่าจะเป็นมาตรการชั่วคราว และรัฐบาลควรจะทำให้เกิดความชัดเจนว่าจะนำมาใช้ในระยะเวลายาวนานแค่ไหน เนื่องจากในระยะยาวรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทนุในตลาดตราสารหนี้ ตลาดทุน

"มาตรการที่อกมาก็จะทำให้ต่างชาติคิดถึงต้นทุนที่เข้ามาลงทุนด้วย เชื่อว่าคงเป็นมาตรการไม่แรงเท่ามาตรการกันสำรอง 30% ...ตอนนี้รัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อชะลอเงินไหลเข้า แต่ก็ควรมีมาตรการอื่นๆด้วย เช่นมาตรการส่งเสริมการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ หรือนโยบายดอกเบี้ย" นายนิวัฒน์ กล่าว

ThaiBMA สรุปผลการซื้อขายตราสารหนี้ในช่วง 9 เดือน มีเอกชนออกหุ้นกู้จำนวน 1.91 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนหุ้นกู้เอกชน แบ่งเป็น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 31% อสังหาริมทรัพย์ 21% ไฟแนนซ์ 14% พลังงาน 9% ชะลอลงจากปีก่อนเนื่องจากความไม่ชัดเจนจากกรณีมาบตาพุด

ส่วนใหญ่เป็นการออกหุ้นกู้ที่มีอายุ 3-5 ปี เนื่องจากมีอายุไม่ยาวนัก รองลงมาเป็นอายุ 10-12% และเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุนประเภทสถาบันเป็นหลัก เนื่องจากขนาดหุ้นกู้ที่เสนอขายจะมีขนาดเล็ก

ด้านมูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 6.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากสิ้นปี 52 โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 12,500 ล้านบาท/วัน ลดลง 24% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการซื้อขายเฉลี่ย 16,500 ล้านบาท/วัน

"สัดส่วนการซื้อขายตราสารหนี้ของต่างชาติช่วงครึ่งปีแรก มีการซื้อขายชะลอลง เพราะเรามีปัญหาการเมือง แต่จะมีเพิ่มขึ้นมาในช่วงเดือน ก.ค.เป็นต้นมา โดยต่างชาติมีสัดส่วนการซื้อขายที่สูงขึ้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ