เจ้าหน้าที่กำกับดูแลภาคธุรกิจการเงินของออสเตรเลียเตรียมร่างแนวทางปฏิรูปมาตรการกำกับดูแลภาคธุรกิจธนาคาร เพื่อป้องกันมิให้ธนาคารพาณิชย์ฉวยโอกาสตั้งเงื่อนไขการจัดเก็บค่าปรับเงินกู้จำนองที่ไม่เป็นธรรมเพื่อหวังผลกำไร โดยรัฐบาลจะประกาศมาตรการฉบับใหม่ในสัปดาห์นี้
โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังเผชิญแรงกดดันให้ต้องควบคุมการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารในประเทศมากขึ้น เมื่อธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.45% หลังจากที่ธนาคารกลางออสเตรเลียขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจกับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร และคาดว่า ธนาคารเวสท์แพค ธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง คอร์ป (ANZ) และธนาคารเนชั่นแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) อาจดำเนินการตามและประกาศขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมาธิการด้านหลักทรัพย์และการลงทุนจะร่างระเบียบวิธีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่ช่วยให้ลูกค้าที่ขอเงินกู้รู้ทันเงื่อนไขและค่าธรรมเนียมเอกสารสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของธนาคารได้
ปัจจุบัน ผู้กู้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนธนาคารประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีแรกที่ของเงินกู้ซึ่งต้องเสียค่าปรับกว่า 900 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้ผู้กู้เสียผลประโยชน์ในการเปลี่ยนไปกู้เงินกับธนาคารที่คิดอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า
"แนวทางการกำกับดูแลของเรากำหนดขึ้นมาเพื่อระบุกรอบเวลาการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการหลักทรัพย์และการลงทุนของออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมาธิการฯ มีบทบาทในการกำกับดูแลธนาคารที่ใช้เงื่อนไขเงินกู้อย่างไม่เป็นธรรมกับลูกค้า รวมถึงการกำหนดค่าปรับที่แพงเกินควร รวมถึงดำเนินธุรกิจโดยขาดจรรยาบรรณ
เวย์น สวอน รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียกล่าวว่า แนวทางการกำกับดูแลภาคธุรกิจธนาคารฉบับใหม่จะช่วยให้ลูกค้าที่กู้เงินจากธนาคารใดธนาคารหนึ่งสามารถเปลี่ยนธนาคารผู้ให้กู้ได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจธนาคารมากขึ้นด้วย