วิจัยกสิกรคาดขยายมาตรการลดค่าครองชีพช่วยกดเงินเฟ้อปี 54 ไม่พุ่งเกิน 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 17, 2010 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์มาตรการบรรเทาค่าครองชีพ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และการดูแลทิศทางราคาพลังงานในประเทศของภาครัฐที่อาจส่งผลต่อเนื่องมายังต้นทุนของผู้ประกอบการและอัตราเงินเฟ้อในประเทศในปี 2554 พบว่า การขยายเวลามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน อาจช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 ลงได้ประมาณ 1% จากที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3%

ขณะที่หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพในปี 54 อัตราเงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นไปถึง 4.3%

สำหรับผลของการปรับขึ้นค่าจ้างในกรอบ 8-17 บาท/วันตามมติของครม.นั้น อาจทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นประมาณ 0.65% แต่ผลที่มีต่ออัตราเงินเฟ้ออาจไม่มากเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแม้จะมีการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มไปที่ราคาสินค้า แต่สภาพการแข่งขันในตลาดสินค้าผู้บริโภคที่รุนแรง อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับการปรับขึ้นราคาสินค้าบางประเภทในช่วงเวลานี้ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องหาวิธีการในการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนบางส่วน

ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นค่อนข้างน้อยในการส่งผ่านต้นทุนมายังราคาสินค้า ได้แก่ ผู้ประกอบการสาขากสิกรรม ค้าปลีกค้าส่ง ปศุสัตว์ การทำเหมือง บริการส่วนบุคคล การประมง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ และรองเท้า ขณะที่ผลของการปรับขึ้นค่าจ้างต่ออัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปี 2554 (ช่วงที่ค่าจ้างใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้) อาจไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่สูงในช่วงไตรมาส 1/53 อาจทำให้ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 1/54 อยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 4/53 ที่ราว 2.9-3%

ส่วนมาตรการดูแลราคาพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้ไม่เกินระดับ 30 บาท/ลิตรน นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาล แม้ะใช้กลไกการรับภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้นได้ แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปี 54 ปรับเพิ่มขึ้นไปยืนเหนือระดับ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ต่อเนื่องยาวนาน กลไกการรับภาระของกองทุนน้ำมันอาจไม่เพียงพอที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ในระยะที่ยาวนานนัก สุดท้ายแล้วการจะรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร อาจเป็นไปได้ยากมากขึ้น

"กรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 ที่ 2.5-4.0% (ค่ากลางที่ 3.3%) และกรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 1.8-3.0% (ค่ากลางที่ 2.3%) ยังคงสามารถรองรับผลที่สืบเนื่องมาจากการผลักดันมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และการดูแลทิศทางราคาพลังงานในประเทศของภาครัฐได้ การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะส่งผลช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อลงบางส่วน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 54 ยังเป็นขาขึ้น ซึ่งย่อมทำให้การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อดูแลประเด็นทางด้านเสถียรภาพราคายังน่าที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 54 เป็นอย่างน้อย โดยเครือธนาคารกสิกรไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าที่จะขยับขึ้นไปที่ 2.50% ภายในช่วงกลางปี 54 จากระดับ 2%ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ต้องติดตามประเด็นเชิงนโยบายของภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถบรรเทา หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องค่าครองชีพของประชาชนและราคาพลังงาน (ทั้งในส่วนของน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติ) ได้ในระยะสั้น แต่การวางแนวทางการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาพลังงานหลายรายการในประเทศ ก็นับเป็นโจทย์ระยะกลาง-ยาวที่ท้าท้ายไม่น้อย เนื่องจากประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ต้องการแนวโยบายที่มีความชัดเจน และยังอาจผูกโยงไปกับประเด็นเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาลในระยะถัดๆ ไปอีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้านในระยะ 1 ปีข้างหน้า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดเงิน-ตลาดทุน ความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตลอดจนปัจจัยทางการเมือง และแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศ ทำให้คาดการณ์เบื้องต้นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(GDP) อาจชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 3.5-4.5% ในปี 54 จาก 7% ในปี 53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ