In Focusพินิจเศรษฐกิจโลกปี 53 มะกันเสก QE ยุโรปติดบ่วงหนี้ จีนขึ้นดอกเบี้ยปลายปี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 29, 2010 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับถอยหลังอีกเพียง 2 วัน ปีเสือก็กำลังจะผ่านไป และปีกระต่ายจะเข้ามาแทนที่ ในขณะที่ทั่วโลกเตรียมตัวเคาท์ดาวน์ฉลองเทศกาลปีใหม่กันอย่างคึกคักนั้น ก็อาจมีใครอีกหลายคนที่ใช้เทศกาลปีใหม่เป็นวาระแห่งการทบทวนหรือสรุปบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะบรรดาผู้นำประเทศที่ตัดสินใจใช้มาตรการมากมายตั้งแต่ช่วงต้นปี เพียงเพื่อว่าจะนำพานาวาเศรษฐกิจในประเทศให้รอดพ้นจากมรสุม คนที่ติดตามสถานการณ์โลกชนิดติดขอบเวทีคงทราบว่า ปี 2553 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ยุโรป เงินเฟ้อคุกคามจีน รวมทั้งปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่หลายฝ่ายฝากความหวังไว้ว่าจะเป็นแกนนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็ยังถูกบอมบ์ด้วยกระแสเงินทะลักเข้า อันเป็นผลมาจากการใช้มาตรการ QE ของสหรัฐ หากใครตั้งรับไม่ทันก็เสียหาย แต่ใครที่พอจะยืนขาแข็งอยู่ได้ก็สามารถรับมือกับปีกระต่ายที่ใกล้จะมาถึง

หากปี 2552 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกถูกอาฟเตอร์ช็อกจากวิกฤตซับไพรม์แล้วละก็ ปี 2553 ก็ถือเป็นปีที่ทั่วโลกถูกกระหน่ำด้วยวิกฤตหนี้ยุโรปอย่างแท้จริง ยุโรปติดบ่วงแร้วของปัญหาหนี้สาธารณะจนทำให้หลายประเทศในยุโรปต้องประกาศใช้มาตรการรัดเข็มขัด คำว่ารัดเข็มขัดหากนำมาใช้ในภาคครัวเรือนก็คงทำได้แค่ประหยัดการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น แต่เมื่อนำมาใช้ในภาครัฐย่อมหมายถึงการตัดทอนงบประมาณที่ยังผลให้เกิดความเดือดร้อนไปถึงภาคประชาชน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คำว่า "การรัดเข็มขัด" (austerity) กลายเป็นคำที่มีผู้เข้าไปค้นหาแบบออนไลน์มากที่สุดในปี 2553 จากการเปิดเผยของเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ (Merriam-Webster) ผู้จัดพิมพ์พจนานุกรมชั้นนำของสหรัฐอเมริกา

ก่อนที่ปีเสือกำลังจะจบลงในอีก 2 วันข้างหน้า คอลัมน์ In Focus ขอพาท่านผู้อ่านย้อนรอยไปดูว่า มีเหตุการณ์ในแวดวงเศรษฐกิจการเงินใดบ้างที่โดดเด่นในปี 2553

เปิดศักราชปี 2553 ตลาดหุ้นทั่วโลกซื้อขายวันแรกพุ่งพรวดถ้วนหน้า ขานรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งทั้งในสหรัฐ จีน อังกฤษ และยุโรป โดยเฉพาะดัชนีภาคการผลิตสหรัฐที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 50 จุดติดต่อกันหลายเดือน และดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่ทำสถิติขยายตัวแข็งแกร่งติดต่อกันนานหลายเดือนเช่นกัน แต่แล้วช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกก็ต้องตกตะลึงเมื่อ เอสแอนด์พี มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ พร้อมใจกันประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซ หลังจากรัฐบาลถลุงงบประมาณและใช้จ่ายเกินตัว จนทำให้รัฐมีหนี้สาธารณะสูงถึง 2.94 แสนล้านดอลลาร์ และเมื่อถูกหนี้สินต้อนเข้ามุม รัฐบาลกรีซก็ตัดสินใจล้อมคอกด้วยการตัดงบประมาณและสวัสดิการต่างๆภายในประเทศ เพื่อแลกกับเงื่อนไขการกู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟ จนสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนทั้งประเทศ และนำไปสู่การประท้วงกันวุ่นวาย

กระแสตื่นหนี้ยุโรปเข้มข้นมากขึ้นเมื่อนายดาเนียล ทารุลโล หนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาเตือนว่า หาวิกฤตหนี้ยุโรปลุกลามถึงขีดสุด ก็อาจก่อให้เกิดภาวะชะงักงันในตลาดการเงินเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2551 แม้แต่บิล เกตส์ ราชาไมโครซอฟท์ที่ไม่ค่อยจะออกมาแสดงความเห็นเหมือนคนอื่น ยังอดไม่ได้ที่จะพยากรณ์ผ่านรายการ “Fareed Zakaria GPS" ของสถานีโทรทัศน์ CNN ว่า วิกฤตหนี้ยุโรปจะสั่นคลอนเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าที่หลายคนจะคาดถึง ที่ร้ายไปกว่นั้นคือเมื่อ EPFR Global ระบุว่า ความกังวลเรื่องหนี้ยุโรปทำให้กลุ่มอิควิตี้ฟันด์พากันแห่ถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นทั่วโลกราว 1.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการถอนการลงทุนครั้งใหญ่สุดในรอบกว่า 1 ปี... เจอข่าวตั้งแต่ต้นปีขนาดนี้ เป็นใครก็คงละเหี่ยใจ

สาเหตุที่ทั่วโลกจับตาดูปัญหาหนี้ยุโรปอย่างไม่ละสายตาก็เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่หายเซ็งจากวิกฤติซับไพรม์ในปี 2551 ที่เป็นสาเหตุของการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ตามติดด้วยวิกฤติหนี้ดูไบในปลายปี 2552 แม้ไอเอ็มเอฟยื่นมือโอบอุ้มกรีซ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติสมาชิกยูโรโซนจะเต็มใจช่วย โดยเฉพาะเยอรมนีที่มองว่า หากโมเดลอุ้มกรีซประสบความสำเร็จ ก็อาจเป็นตัวอย่างที่ทำให้ประเทศในยุโรปนำมาเป็นข้ออ้างในการร้องขอความช่วยเหลือแบบไม่มีที่สิ้นสุด ผู้นำยุโรปถกเถียงกันถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปี กว่าจะยอมจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพด้านการเงินแห่งยุโรป (European Financial Stability Facility) มูลค่า 7.50 แสนล้านยูโร (1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ตลาดไม่ได้ขานรับข่าวนี้ เพราะไม่เชื่อมั่นว่ากองทุนดังกล่าวจะสามารถยับยั้งไม่ให้วิกฤตหนี้ลุกลามไปทั่วยุโรปได้

จะว่าไปแล้วก็น่าเห็นใจชาวยุโรปเป็นอย่างยิ่ง ที่ปีนี้นอกจากจะถูกกระหน่ำด้วยปัญหาหนี้แล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยการระเบิดของภูเขาใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล (Eyjafjallajokull) บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของเกาะไอซ์แลนด์ ที่ส่งผลให้เกิดควันเถ้าลอยสูงขึ้นไปปิดน่านฟ้ายุโรป จนเป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ยกเลิกเที่ยวบินทั่วยุโรป สร้างความเสียหายตั้งแต่สายการบินไปจนถึงธุรกิจน้อยใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของยุโรป ขนาดองค์กรการบินพลเรือนสากลของสหรัฐยังยอมรับว่า วิกฤตน่านฟ้ายุโรปมีความร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤตการบินช่วงเกิดเหตุวินาศกรรมสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2544 เสียอีก

ยังไม่หายเหนื่อยกับหนี้ยุโรป ก็ต้องตื่นมาตาโตกับข่าวการตัดสินใจของพี่เบิ้มอย่างธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประกาศใช้ QE2 ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพิ่มขึ้นอีก 6 แสนล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งเบน เบอร์นันเก้ แสดงความมั่นใจนักหนาว่าจะไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อในสหรัฐ ตอนแรกตลาดก็ขานรับดีอยู่หรอก แต่จากนั้นไม่กี่วันก็เริ่มมีการวิเคราะห์เจาะลึกอย่างครึกโครมว่า มาตรการ QE ส่งผลในด้านลบมากกว่าผลดี โดยเฉพาะจิม โรเจอร์ส นักวิเคราะห์ชื่อดังที่จวกสหรัฐหนักกว่าใครว่า QE สะท้อนถึงการเดิมเกมเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของสหรัฐ เพราะการพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบมีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เนื่องจาก QE เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้มีเงินร้อนทะลักเข้าสู่ภูมิภาคตลาดเกิดใหม่ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ล่มจมเพราะเงินเฟ้อได้ ในขณะที่วูลฟ์กัง ชูเบิล รมว.คลังเยอรมนีออกมาช่วยโหมโรงว่า QE ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย แต่กลับจะสร้างปัญหามากกว่า ตามมาด้วยต้ากง โกลบอล เครดิต เรทติ้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของจีน ที่ประกาศหั่นเครดิตสหรัฐลง 1 ขั้น ทั้งยังคอมเมนท์ให้เจ็บใจว่า QE ไม่ได้ช่วยให้ยอดขาดดุลการคลังของสหรัฐลดลง และไม่ได้ช่วยลดภาระการชำระคืนหนี้ในระยะยาวด้วย แต่กลับจะทุบมูลค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนแอลง ซึ่งผลลบทั้งหมดนี้จะกลับมาทิ่มแทงสหรัฐเอง

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้มาตรการ QE ของสหรัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็เพราะว่า การเพิ่มเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบด้วยการเข้าซื้อตราสารทางการเงินนั้น จะส่งผลให้งบดุล (balance sheet) ของธนาคารกลางอยู่ในภาวะที่ไร้สมดุล ทั้งทางฝั่ง asset (ตราสารที่ซื้อเข้ามา) และฝั่ง liability (เงินที่จ่ายออกไป) ซึ่งนโยบายการเงินแบบปกติจะไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ นอกจากนี้ มาตรการ QE อาจทำให้สหรัฐ ติดกับดักในลักษณะที่เรียกว่า liquidity trap ...ซึ่งคาดว่าอีกไม่นาน เราก็คงได้เห็นข่าวสหรัฐกลับมาใช้มุกเดิมคือ Exit Strategy หรือการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

เมื่อพูดถึงเงินเฟ้อ ก็ขอส่งท้ายปลายปีด้วยข่าวธนาคารกลางจีนขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ทั้งเงินกู้และเงินฝาก ด้วยเป้าหมายสำคัญคือสกัดเงินเฟ้อ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือนที่ 5.1% ในเดือนพ.ย.และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งขึ้นอีกในเดือนธ.ค.และปีหน้า

อันที่จริงจีนเริ่มลงมือควบคุมเงินเฟ้อมาตั้งแต่ต้นปี 2553 ด้วยการประกาศเพิ่มเพดานกันสำรองสภาพคล่องของแบงก์พาณิชย์ 0.5% ในช่วงกลางเดือนม.ค. และประกาศขึ้นอีกหลายครั้งตามมา ก่อนที่จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ความเคลื่อนไหวของจีนถูกตีความในวงกว้างว่า ดินแดนมังกรกำลังถูกพิษเงินเฟ้อเล่นงานเข้าแล้ว หลังจากรัฐบาลชะล่าใจใช้มาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลเมื่อปีก่อน จนทำให้ภาคธนาคารปล่อยเงินกู้กันเอิกเริก ภาคเอกชนและประชาชนก็กู้เงินกันมันมือ ขณะที่ราคาสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์พุ่งพรวดจนแทบจะเอื้อมไม่ถึง ผลก็คือระบบเศรษฐกิจจีนถูกกระหน่ำด้วยเงินเฟ้อและฟองสบู่ที่ลอยฟูฟ่อง

กัว เตียนหยง อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Central University of Finance and Economics กล่าวว่า ยอดการปล่อยเงินกู้ใหม่ของธนาคารพาณิชย์และยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเกินคาด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จีนต้องเร่งใช้มาตรการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบทันที รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยและเพิ่มเพดานกันสำรองสภาพคล่อง อาจารย์กัวยังกล่าวด้วยว่า สภาพคล่องส่วนเกินและภาวะเงินเฟ้อสะท้อนให้เห็นได้จากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างร้อนแรง โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ใน 70 เมืองขนาดใหญ่ของจีนพุ่งขึ้น 7.7% ในเดือนพ.ย. และอดไม่ได้ที่จะชี้นิ้วไปที่มาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐว่า เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในจีนสูงขึ้น

หลายท่านคงเหนื่อยหน่ายกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2553 ที่นับตั้งแต่ต้นปีก็ยังไม่มีข่าวดีเข้ามาให้รื่นหู แต่ถึงอย่างนั้น คอลัมน์ In Focus ยังมีความหวังว่า ท้องฟ้าในปีกระต่ายจะสดใสขึ้น หลังจากเมฆหมอกที่ปกคลุมเศรษฐกิจโลกในปีเสือจางหายไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ