ก.เกษตร คาดราคาสินค้าเกษตรปี 54 แนวโน้มสูงขึ้นจากภัยธรรมชาติ-ศก.โลกฟื้น-อุตฯขยายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมสินค้าเกษตรที่สำคัญของปี 2554 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สัปปะรด ไก่เนื้อ สุกร และกุ้ง โดยเปรียบเทียบกับปี 2553 แล้ว พบว่า ด้านการผลิต ปาล์มน้ำมัน สัปปะรด ยางพารา เนื่องจากราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรดูแลมากขึ้น ประกอบกับทั้งต้นปาล์มน้ำมันและต้นยางพาราอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิตมากขึ้น

ส่วนสินค้าพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน เนื่องจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติในช่วงต้นปี ประกอบกับการเกิดโรคระบาด เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว เพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง

สำหรับการใช้ในประเทศ สินค้าพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจดี ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัว เช่น ปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล ยางพารามีการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์มายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น และสับปะรดเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น

ส่วนสินค้าพืชลดลง ได้แก่ ข้าว เนื่องจากการใช้เมล็ดพันธุ์ลดลง ส่วนมันสำปะหลังเป็นผลจากผลผลิตมันสำปะหลังลดลง ประกอบกับราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้นมากอุตสาหกรรมต่อเนื่องจึงหันไปใช้พืชอื่นทดแทน สินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร ความต้องการสินค้าปศุสัตว์จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าสภาวะทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น รวมทั้งมีการขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าประมง ความต้องการสินค้ากุ้งจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินค้าโปรตีนชนิดอื่น

ด้านการส่งออก คาดว่า สินค้าพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา สับปะรด โดยข้าวเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญ เช่น ข้าว ปากีสถานจะส่งออกลดลง ขณะที่อินเดียยังคงงดการส่งออกข้าว ยกเว้นข้าวบาสมาติ รวมทั้งบราซิลจะงดการส่งออกข้าวนึ่ง และประเทศผู้นำเข้า เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ผลผลิตเสียหายจะมีการนำเข้าในปี 2554 เพิ่มขึ้น ส่วนยางพารา จีนจะนำเข้ายางพาราจากไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งอินเดียและเกาหลีใต้นำเข้าเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับสับปะรด ประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้กำลังซื้อขยายตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สินค้าพืชที่ลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และน้ำตาล โดยมันสำปะหลังปริมาณการส่งออกลดลงเนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังลดลงมากจากปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดและภัยแล้ง ซึ่งในปี 2553 การส่งออกมีปริมาณมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการรับจำนำ ปี 2551/52

สำหรับน้ำตาล ปริมาณการส่งออกลดลงเพราะผลผลิตลดลง ประกอบกับมีการจัดสรรเพื่อบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายการผลิตเพิ่ม

ทั้งนี้ ในส่วนของแนวโน้มราคาที่เกษตรกรขายได้ พบว่า สินค้าพืชเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สัปปะรด เนื่องจากผลผลิตของโลกลดลง เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการของโลกเพิ่มขึ้นและความต้องการใช้ภายในประเทศโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ส่วนอ้อย ราคาทรงตัวโดยอยู่ในระดับสูง

นายธีระ กล่าวถึงดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ 171.69 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาสินค้าเกษตร สูงขึ้น ร้อยละ 22.74 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคา สูงขึ้น ร้อยละ 4.06 ซึ่งเมื่อพิจารณาในภาพรวมราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาในปี 2553 ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกันแล้ว โดยสินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเดือนที่ผ่านมาพบว่า สินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สับปะรดโรงงาน มะพร้าว และสินค้าปศุสัตว์ ส่วนสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าวนาปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อเพราะยังมีข้าวในสต๊อกมาก และสุกร เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

ภาพรวมดัชนีราคาสินค้าเกษตรในปี 2553 อยู่ที่ 156.64 ซึ่งพบว่าสูงขึ้นจากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 126.49 ร้อยละ 23.83 ขณะเดียวกันก็สูงกว่าปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่สูงสุดที่ 132.57 โดยดัชนีราคาในปี 2553 อยู่ในระดับสูงตั้งแต่ต้นปีและเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยสินค้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่

นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับในเดือนมกราคม 2554 คาดว่า ดัชนีราคาจะยังคงปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก ราคาปาล์มน้ำมันและยางพารามีแนวโน้มสูงขึ้น จากความต้องการพลังงานในช่วงฤดูหนาวของต่างประเทศที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนภาพรวมด้านการผลิตสินค้าเกษตร เดือนธันวาคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาดัชนีผลผลิต สูงขึ้น ร้อยละ 3.12 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ยางพารา สับปะรดโรงงาน หอมหัวใหญ่ สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าที่ผลผลิต ลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิต ลดลง ร้อยละ 13.97 สินค้าสำคัญที่ผลผลิต ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร และไก่เนื้อ ส่วนสินค้าที่ผลผลิต สูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สับปะรดโรงงาน และไข่ไก่

เมื่อสรุปดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในปี 2553 จะลดลง จากปี 2552 ร้อยละ 3.44 โดยสินค้าสำคัญที่ลดลงได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และ ยางพารา เนื่องจากในช่วงต้นปีประสบปัญหาภัยแล้ง และช่วงปลายปีประสบอุทกภัย

สำหรับในเดือนมกราคม 2554 คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมจะยังคงสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา เพราะมีผลผลิตสินค้าสำคัญหลายชนิดออกสู่ตลาดมากขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ