ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ห่วงเฟ้อเร่งตัว อาจพุ่งกว่า 5%หากอาหาร-น้ำมันแพงผิดปกติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2011 19:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยอาจเข้าสู่จังหวะที่เร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 2/54 เนื่องจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่ต้องแบกรับการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตหลายด้านพร้อมกัน (ต้นทุนวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลาง ต้นทุนทางการเงิน และค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นมาแล้วตั้งแต่ต้นปี) อาจยื่นเรื่องขอปรับเพิ่มราคาสินค้ากับกระทรวงพาณิชย์ หลังจากที่มาตรการขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าสิ้นสุดลงในช่วงเดือน มี.ค.54

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ.54 เพิ่มขึ้น 2.87% (YoY) ชะลอลงเล็กน้อยจาก 3% ในเดือน ม.ค.54

อย่างไรก็ดี หากไม่นับรวมราคาในกลุ่มอาหารสดและพลังงานแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.พ.ขยับขึ้นเป็น 1.45% เร่งสูงขึ้นจา 1.32% ในเดือน ม.ค.ซึ่งก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ความผันผวนของต้นทุนการผลิต ตลอดจนโมเมนตัมของการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ กำลังทยอยส่งผ่านมายังราคาสินค้าผู้บริโภค

ทั้งนี้ กรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 54 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 2.9-4.0% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ 2.0-2.6% สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นสามารถรองรับสถานการณ์การปรับเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและน้ำมันไว้ได้ในระดับหนึ่ง

แต่ในกรณีเลวร้ายที่ราคาน้ำมันโลกยืนระดับสูงเป็นเวลานาน และความแปรปรวนของสภาวะอากาศรุนแรงมากเกินคาด ก็อาจส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปพุ่งขึ้นเกินกรอบบนของประมาณการอีก 1% ซึ่งเท่ากับว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสพุ่งสูงกว่า 5% หากไทยต้องเผชิญกับภาวะราคาอาหารและพลังงานที่ผิดปกติพร้อมกัน

สำหรับประเด็นสำคัญในช่วงหลายเดือนข้างหน้าสำหรับไทยนั้น คงต้องเตรียมรับมือกับการขยับขึ้นของราคาน้ำมัน ตลอดจนประเมินผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่อาจย้อนรอยกลับมาสร้างความกังวลต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทยอีกครั้งเช่นเดียวกับในช่วงปี 53 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว นอกจากจะมีนัยต่อเนื่องไปยังวัฎจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท. แล้ว (สายงานธุรกิจตลาดทุน เครือธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจขยับขึ้นไปที่ 3.25% ภายในสิ้นปี 54 หากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้) ก็อาจมีผลย้อนกลับไปที่การพิจารณาค่าจ้างแรงงานของไทยในระยะข้างหน้าอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ