เอกชนเล็งชงรัฐบาลใหม่ตั้งคลังสำรองน้ำมันฯลดความเสี่ยง-เพิ่มความมั่นคง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 30, 2011 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยเตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ให้จัดตั้งคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติเหมือนในต่างประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน ที่มีการสำรองน้ำมันไว้ใช้ประมาณ 60-90 วัน

โดยวิธีการนั้นให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์มาสร้างคลังสำรองและจัดซื้อน้ำมันในช่วงที่ราคาปรับตัวลดลง เพื่อไว้ใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤติ อย่างกรณีญี่ปุ่นที่นำน้ำมันสำรอง 70 วัน ลดเหลือ 45 วัน มาใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤติสึนามิในประเทศ ส่วนปริมาณการสำรองจะเป็นเท่าไหร่นั้นจะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยปัจจุบันการสำรองน้ำมันของไทยมีเพียงผู้ค้าน้ำมันเท่านั้นที่เป็นผู้เก็บสำรองในสัดส่วนเพียง 17-18 วัน และยังเป็นภาระของผู้ค้าน้ำมันอีกด้วย

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกมีโอกาสขยับสูงขึ้นแตะระดับ 200-220 ดอลลาร์/บาร์เรล หากสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางขยายไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยเฉพาะบาห์เรน และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย จากปัจจุบันที่ราคาน้ำมันยังคงทรงตัวระดับสูง

ทั้งนี้ คาดว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 120 ดอลลาร์/บาร์เรล น้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูป 130 ดอลลาร์/บาร์เรล และอาจปรับขึ้นถึง 140 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ความต้องการน้ำมันของโลก คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีก 1-2 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 88 ล้านบาร์เรล/วัน เพราะความต้องการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนปริมาณการผลิตอยู่ที่เพียง 86-87 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนที่ขาดจะนำมาจากปริมาณสำรองของโลกที่ยังมีอยู่ประมาณ 60 วัน

นายมนูญ กล่าวว่า ขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลควรมีการทำประกันความเสี่ยง(เฮดจิ้ง) ไว้ล่วงหน้า โดยให้ผู้น้ำมันรายใหญ่เป็นผู้รับประกันความเสี่ยงเอง จากปัจจุบันใช้กองทุนน้ำมันฯ ดูแลทั้งระบบ เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ และให้กองทุนน้ำมันฯ ทำหน้าที่เพียงการส่งเสริมพลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน รวมทั้งนำเงินกองทุนไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแทน

นายมนูญ กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐบาลยังไม่ปล่อยลอยตัวราคาพลังงานตามกลไกตลาดโลก เพราะใช้เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งใหม่ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นรัฐบาลควรปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ขณะที่นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ระบุว่า สาเหตุที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ นอกจากความขัดแย้งและสงครามในตะวันออกกลาง และการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในญี่ปุ่น แต่ยังมีความพยายามของนักลงทุนจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกบางกลุ่ม และเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลก ต้องการให้ใช้สกุลเงินอื่น เช่น สกุลเงินหยวน หรือ สกุลเงินยูโร แทนหรือควบคู่ไปกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างความมั่นคงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากทำสำเร็จจะส่งผลกระทบต่อการเงินของสหรัฐฯ ที่อาจอ่อนค่าลง ในขณะที่ค่าเงินยูโรหรือเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีน้ำมันเป็นหลักทรัพย์ประกันค่าเงิน

ส่วนปัญหาทางการเมืองในตะวันออกกลางกำลังดำเนินมาถึงจุดวิกฤต โดยมองว่า เหตุการณ์ในตะวันออกกลางจะจบลง 2 ลักษณะคือ 1.ประเทศที่มีความขัดแย้งจะตั้งรัฐบาลที่เป็นผู้นำทางการทหารขึ้นมาครองอำนาจเบ็ดเสร็จ แม้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบแต่การเมืองจะนิ่งขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนน้อยลง และเคลื่อนไหวอยู่ในระดับปกติ หรือ 2.ประเทศต่างๆ มีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันผันผวน เนื่องจากการเมืองจะไม่นิ่งโดยจะมีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มที่จะผันผวนสูง เนื่องจากราคาไม่มีเสถียรภาพจากปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องการเมืองและภัยธรรมชาติ รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์เรื่องพลังงานโดยวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อแทรกแทรงราคาเท่านั้น ส่วนระยะยาวรัฐบาลต้องใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางการเกษตรที่มีวัตถุดิบมาก ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวโพด โดยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสม

นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ไม่สนับสนุนนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานในทุกกรณี โดยในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หากมีการยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล และพร้อมที่จะรับผิดชอบค่าขนส่งที่สูงขึ้น โดยปัจจุบัน ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 17-18 ต่างกับต่างประเทศในหลายๆ ประเทศที่มีต้นทุนเพียงร้อยละ 7

สำหรับการปล่อยตัวราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)ในภาคอุตสาหกรรมนั้น นายเจน กล่าวว่า น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล โดยอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมแก้ว กระจก และเซรามิก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ก๊าซแอลพีจีปริมาณมาก ซึ่งขณะนี้กำลังหาทางเลือกในการให้ความช่วยเหลือในกลุ่มดังกล่าวว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ทางใดบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ