ADB ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยลงเหลือโต 4.1% จากเดิมคาด 4.5%, ปี 55 โต 4.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 7, 2011 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรประจำประเทศไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า ADB ได้ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 54 ลง 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 4.1% หรือจากคาดการณ์เดิมซึ่งมองที่ระดับ 4.5%

เป็นผลจากปัจจัยเสี่ยง 3 ด้านคือ ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นสูงเกินกว่าที่ตั้งสมมุติฐานไว้ 95 ดอลลาร์/บาร์เรล จากกรณีปัญหาความรุนแรงในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ การเกิดปัญหาภัยพิบัติในประเทศญี่ปุนซึ่งจะเห็นผลกระทบชัดเจนต่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ยังอยู่ในอัตราที่เป็นบวกเล็กน้อย รวมทั้งปัญหาอุทกภัยทางภาคใต้ของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในภาพรวมให้ลดลง 0.3-0.4%

ขณะที่มีความกังวลต่อปัญหาการเร่งตัวอัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นแรงกดดันด้านราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงผลจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อล่วงหน้าของประชาชนและภาคธุรกิจ หลังจากรัฐบาลได้ประกาศปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีกประมาณ 25% โดยประเมินว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 3.5% และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีมาตราการต่างๆ ออกมาสกัด ซึ่งจะเป็นการผสานทั้งนโยบายด้านการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปีนี้ประมาณ 3.25 -3.50% ต่อปี

"แม้จะมีหลายปัจจัยที่ท้าทาย แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้ ทั้งจากการบริโภคในประเทศของภาคเอกชนและรัฐบาลจากการลงทุนผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจได้รับการกระตุ้นอีกทางหนึ่ง ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวข้างต้นอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่รัฐบาลประกาศว่าจะจัดให้มีขึ้นในปีนี้ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารงานได้อย่างต่อเนื่องและเพิ่มจีดีพีเป็น 4.8% ในปี 55" นางลักษมณ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังต้องติดตามปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ การแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป และผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นางลักษมณ กล่าวอีกว่า ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาส ซึ่งกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 20% ของประเทศ มีรายได้รวมเกือบครึ่งของรายได้ทั้งหมด แสดงความไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น รัฐบาลต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) นอกเหนือจากส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน การลงทุนในระยะยาว และการดูแลด้านสวัสดิการสังคมควบคู่กัน ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่นั้นๆ

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคเอเชียในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 7.8% และ 7.7% ในปี 55 แม้ว่าตัวเลขจะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่สะท้อนว่าทั้งภูมิภาคเอเชียยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยทั้งจากราคาน้ำมัน และภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจแบบองค์รวม รวมทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาเงินเฟ้ออย่างระมัดระวังผ่านนโยบายที่มีความยืดหยุ่นและสามารถควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนได้มากกว่าการยึดนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด


แท็ก เอเชีย   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ