ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: วิตกหนี้สาธารณะถ่วงยูโรร่วง หลังไอร์แลนด์ถูกหั่นเครดิต

ข่าวต่างประเทศ Saturday April 16, 2011 09:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์และเยนในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 เม.ย.) หลังจากไอร์แลนด์ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

เงินยูโรอ่อนค่าลง 0.39% แตะที่ระดับ 1.4432 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4488 ดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี และร่วงลง 0.81% แตะที่ 119.94 เยน จากระดับ 120.92 เยน

เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 0.46% เมื่อเทียบกับเยนที่ระดับ 83.120 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 83.500 เยน และลดลง 0.01% เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา แตะที่ 0.9604 จากระดับ 0.9605 ดอลลาร์แคนาดา แต่แข็งค่าขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.8925 ฟรังค์ จากระดับ 0.8922 ฟรังค์

ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.26% แตะที่ 1.6305 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6348 ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 0.20% แตะที่ 1.0562 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0541 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.72% แตะที่ 0.7985 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7928 ดอลลาร์สหรัฐ

วานนี้ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของไอร์แลนด์ลง 2 ขั้น สู่ระดับ Baa3 จากระดับ Baa1 และคงแนวโน้มอันดับเครดิตในเชิงลบ ซึ่งการตัดสินใจหั่นอันดับเครดิตในครั้งนี้ยิ่งเป็นการเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ในยูโรโซน และส่งผลให้นักลงทุนส่งแรงขายทำกำไรเข้ากดดันเงินยูโร

อย่างไรก็ดี เงินยูโรยังได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก หลังจากที่ในสัปดาห์ที่แล้ว อีซีบีเพิ่งตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เพื่อสกัดกั้นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในยูโรโซน

ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป หลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมีนาคม โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาอาหารและน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ขยับขึ้นเพียง 0.1% ซึ่งน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และเมื่อเทียบเป็นรายปี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนมี.ค. ซึ่งยังต่ำอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายในช่วง 1.5% - 2% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำหนดไว้

นักวิเคราะห์เชื่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลดีต่อยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆเกือบทุกสกุล จากแรงซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียง หลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือน และสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ระดับ 4% ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของจีนเป็นการจุดกระแสคาดการณ์ขึ้นอีกครั้งว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รวมถึงเศรษฐกิจโลก จะขยายตัวช้าลง ซึ่งภาวะดังกล่าวจะลดทอนความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและผลักดันให้นักลงทุนหันไปหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยกว่าแทน

ด้านเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่รมว.คลัง บิล อิงลิช ออกมากล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวเร็วขึ้นในนิวซีแลนด์จะไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ