ปลัดคลังเผยเตรียมวงเงินรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต 1 หมื่นลบ.เริ่ม 1 มิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2011 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้จัดโครงการลดภาระดอกเบี้ยบัตรเครดิต มีวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีวินัยทางการเงินให้มีภาระดอกเบี้ยที่ต่ำลง โดยความร่วมมือของสถาบันการเงินของรัฐ 3 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จัดเตรียมวงเงิน 4,500 ล้านบาท ธนาคาออมสิน 4,500 ล้านบาท และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 1,000 ล้านบาท เริ่มโครงการเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค.54

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นหนี้บัตรเครดิตธนาคารพาณิชย์ที่มีสถานะปกติ ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.54 เป็นต้นไป และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการำชะหนี้ตามเกณฑ์ของธนาคารเข้าร่วมโครงการเพื่อไถ่ถอนหนี้บัตรเครดิตเดิม โดยเป็นเงินกู้ไม่มีหลักประกัน ให้กู้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน/รายได้ปัจจุบัน แต่ไม่เกินรายละ 3 แสนบาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 1-3 ปี อัตราดอกเบี้ย 10%ต่อปี โดยผู้กู้ต้องมีหนังสือแสดงเจตจำนงกับธนาคารว่าจะไม่ก่อภาระหนี้บัตรเครดิตเพิ่มเติมเป็นเวลา 1 ปี

"ปัจจุบันมีผู้ใช้บัตรเครดิต 9.5 ล้านบัญชี เป็นวงเงิน 150,000 ล้านบาท แต่มี 35% ที่เป็นลูกหนี้ที่ผ่อนชำระ 10% หรือเป็นวงเงิน 35,000 ล้านบาท" นายอารีพงศ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตประเภทบัตรกดเงินสดของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น บัตรอิออน บัตรเงินด่วนศรีสวัสดิ์ เพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเพื่อลดภาระดอกเบี้ยเช่นกัน ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ไม่สูงนัก

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า หากมีประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการลดภาระดอกเบี้ยบัตรเครดิตเกินวงเงินที่เตรียมไว้ 10,000 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่ง พร้อมที่จะเพิ่มวงเงินรับรีไฟแนนซ์หนี้เพิ่มเติมให้

"การที่มองว่าเมื่อรัฐบาลมีโครงการดังกล่าวจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการเพิ่มค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป มองว่าเป็นหน้าที่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันให้เป็นธรรม เพราะสุดท้ายประโยชน์จะตกอยู่ที่ประชาชน" นายกรณ์ กล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ธนาคารกรุงไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-255 2222 ธนาคารออมสิน 02-299 8000 และ ธนาคารอิสลามฯ 02-650 6999


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ