China Todayข่าวธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์และเกษตรจีนประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2554

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 8, 2011 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงเกษตรของจีนรายงานว่า การเก็บเกี่ยวข้าวสาลีที่เพาะปลูกในช่วงฤดูหนาวของจีนมีความคืบหน้าไปแล้ว 40% ณ วันจันทร์ที่ผ่านมา และการเก็บเกี่ยวยังเดินหน้าต่อไปด้วยดีทั่วทั้งประเทศ เนื่องจากมีเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวอย่างพอเพียง ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลยังอยู่ในระดับปกติ

สถิติของกระทรวงเกษตรระบุว่า จีนเก็บเกี่ยวข้าวสาลีที่เพาะปลูกในช่วงฤดูหนาวเสร็จสิ้นไปแล้ว 137.75 ล้านเฮคตาร์ โดยพื้นที่ 103.74 ล้านเฮคตาร์เป็นการเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องจักร ส่วนความคืบหน้าในการเก็บเกี่ยวมีความรวดเร็วกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน

-- กระทรวงการคลังของจีนได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 1.2 พันล้านหยวน (ประมาณ 182.65 ล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยให้การทำงานด้านการบรรเทาภัยแล้งใน 5 ภูมิภาคในลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนกลางและตอนล่างบรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของจีนเตือนว่า ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายนอาจจะช่วยบรรเทาภาวะภัยแล้งลงแต่ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่

-- องค์การน้ำมันโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการประเมินน้ำมันปรุงอาหาร คาดว่า ยอดนำเข้าน้ำมันพืชของจีนอาจเพิ่มขึ้นเกือบ 70% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 3 ล้านตัน ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ เนื่องจากความต้องการในการปรับเพิ่มยอดสต็อกสูงขึ้น

รายงานขององค์การฯ ระบุว่า รัฐบาลจีนได้ขายน้ำมันเรพซี้ดและน้ำมันถั่วเหลืองจากสต็อกสำรองของรัฐบาลจำนวนมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันปรุงอาหาร และคาดว่า จะทำให้ยอดสต็อกน้ำมันสำรองของรัฐบาลลดลง 800,000 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

จากข้อมูลดังกล่าว องค์การฯ คาดว่า จีนอาจนำเข้าน้ำมันปาล์มจำนวน 1.8 ล้านตัน และน้ำมันถั่วเหลืองจำนวน 600,000 ตัน ในระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายนนี้

-- กระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยว่า ราคาสินค้าเกษตรของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอยางต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน) แต่มีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เทศกาล Chinese Dragon Boat Festival (วันที่ 6 มิถุนายน) ช่วยให้ปริมาณการบริโภคเนื้อและไข่เพิ่มสูงขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรกลับไม่ได้พุ่งสูงขึ้นมากนัก เพราะตลาดมีอุปทานที่พอเพียง

ราคาอาหารมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของจีน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายนนั้น ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 5.4% ในเดือนมีนาคม สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ